31 พ.ค. 2555

ความรู้สึกเกี่ยวกับการถ่ายภาพ...

มีคนเคยถามว่าถ่ายรูปนานหรือยัง ถ้านับตั้งแต่จับกล้องมาใส่ฟิล์มแล้วกดถ่ายเพื่อเผาผลาญเงินในกระเป๋าก็เริ่มมานานแล้ว ครั้งแรกถ่ายรูปก็ปี 2528 ด้วยกล้อง Agfa ฟิล์ม 110 ถ่ายประมาณ 7-8 ม้วน ก็ต้องเลิก เพราะค่าใช้จ่ายสูงมาก ซื้อกล้องมาราคา 250 บาท แต่ค่าฟิล์ม 70 บาท ค่าล้าง 30 ค่าอัดใบละ 5 บาท ม้วนหนึ่งได้ 24-25 ภาพ จะล้างอัดภาพทีก็เข้าในเมืองเป็นวันส่งอัดตอนเช้าเย็น ๆ 3-4 โมงเย็นก็ไปรอรับได้แล้ว ค่าใช้จ่ายทั้งหมดก็ 3-400 บาท ถ่ายไปสักพักก็ต้องเลิกล้มเพราะหมดเงินไปหลายพันบาท ก็เป็นประสบการณ์ทำให้เด็กรุ่นอายุ 12-13 ได้มีโอกาสสัมผัสกับกล้อง และอยากถ่ายรูปอยู่ตลอดก็คิดเสมอจะหาโอกาสถ่ายรูปแบบจริงจังบ้าง




จนถึงปัจจุบันความฝันในการครอบครองกล้องก็สำเร็จลุล่วงได้มาด้วยหยาดเหงื่อแรงกาย และความอดทน(ของภรรยา) ก็ถือว่าประสบผลสำเร็จแล้วสำหรับคนที่ใฝ่ฝันอยากมีกล้อง อยากถ่ายรูป แต่แปลกใจคือ ไม่เคยคิดที่จะหาเงินจากกล้องเลยแม้แต่นิด คิดเพียงแต่อยากถ่ายรูปตามที่ตนเองต้องการเท่านั้น (คราวนี้เรื่องแดงแน่ ๆ เพราะตอนจะซื้อกล้องก็อ้างเหตุผลสามารถหาเงินได้จากกล้อง เดี๋ยวคงมีคนเคืองจนตาเขียวเป็นแน่)

ถ่ายรูปด้วยกล้อง DSLR ทำให้เราเห็นภาพทันที ได้เรียนรู้ ความรู้สึกจากภาพที่ได้มันมียอดเยี่ยมมาก เพราะเราสามารถบันทึกเหตุการณ์หรือสิ่งต่าง ๆ ณ เวลานั้นได้ ทำให้คิดเสมอว่าการถ่ายภาพคือการหยุดเวลา ด้วยเหตุนี้จำเป็นต้องเปลี่ยนกล้องเปลี่ยนอุปกรณ์ไปเรื่อย เพื่อให้โอกาสหยุดเวลาเป็นไปตามต้องการ

ผลการถ่ายรูปก็ยังเป็นเจตนาเดิมอยู่คือการถ่ายรูปตามความต้องการของตนเอง ใครจะคิดอย่างไรไม่สนใจ เพียงแต่ตนเองมองเห็นภาพแล้วมีความสุขก็เท่านี้ครับ เหตุผลลึก ๆ ของการมีกล้องของผู้เขียน

แต่ปัจจุบันได้พบปะกับเพื่อนฝูงแวดวงการถ่ายภาพแล้วก็เริ่มเปลี่ยนไปเล็กน้อย แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นจะหาเลี้ยงชีพด้วยการถ่ายภาพ (ถึงแม้ว่าจะคิดบ้าง อยากลองบ้าง) เพราะยังคิดว่าต้องปรับปรุงอีกมาก โดยเฉพาะเรื่อง การถ่ายภาพให้คนอื่นชอบ

การถ่ายภาพให้คนอื่นรู้สึกประทับใจนั้นกลับเป็นเรื่องยากพอสมควร เพราะความรู้สึกของคนไม่เหมือนกัน บางครั้งบางภาพเรามองว่าสวยแล้ว แต่คนอื่นกลับมีข้อติติงหลายประการ และบางภาพเรามองอย่างไรก็เป็นภาพเสีย ผิดเพี้ยน แต่คนกลับชมกันว่าเป็นภาพที่ตกแต่งสวยงาม ก็แล้วแต่ยุคสมัยไป

สำหรับผู้เขียนแล้วยังคงมองการถ่ายภาพแบบสื่อสะท้อนความเป็นจริง สมจริง อยู่เหมือนเดิมถึงแม้ใครจะมองว่าเชย ๆ ไม่ทันสมัย แต่การถ่ายภาพในมุมมองผู้เขียนคือ การหยุดเวลา และการบันทึกเรื่องราวเพื่อย้อนกลับมาดูภายหลังซึ่งไม่สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้

ศิลปะกับการถ่ายรูป
การถ่ายรูปยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าเป็นศิลปะหรือไม่ เพราะยังกล้ำกึ่งอยู่บ้าง ระหว่าง วิจิตรศิลป์ (Fine Art) และพาณิชย์ศิลป์ (Commercial Art) และนอกจากนี้ยังมีรูปถ่ายที่ไม่เข้าข่ายศิลปะเอาเสียเลยอย่างภาพบันทึกเหตุการณ์หรือที่นิยมเรียกกันว่า สแนปช็อต (Snapshot)  และภาพอย่างหลังนี่บางภาพก็เข้าข่ายศิลปะโดยบังเอิญไปเพราะสามารถบันทึกภาพอารมณ์เหตุการณ์ที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกได้เป็นอย่างดี ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะแยกแยะ แต่รวม ๆ แล้วการถ่ายรูปก็มีสองแบบคือถ้าไม่เป็นศิลปะก็เป็นเทคนิค (ไม่นับรวมกล้องเล็งแล้วถ่าย - Point and shoot ที่ง่าย ๆ ไม่ต้องคิดอะไรมาก) เพราะต้องปรับวัดแสง คาดเดาสถานการณ์ ต่าง ๆ เพื่อให้ได้ภาพขึ้นมาสักภาพ หากใช้แค่ประสบการณ์และวิธีการก็เป็นระดับเทคนิค แต่ถ้าเพิ่มเติมด้วยอารมณ์ความรู้สึก การจัดทิศทางของแสง-เงา สี องค์ประกอบ อารมณ์ต่างๆ เพิ่มเติมก็เอนเอียงไปในระดับศิลปะ  และถ้าแสงเงาสวยองค์ประกอบดี มีเรื่องราวโดดเด่นก็ถือว่าเป็น Fine Art หรือศิลปะขั้นวิจิตรพิศดารไป

แต่ในปัจจุบันนี้มีเรื่องแปลกประหลาดเกิดขึ้น คนหลาย บางกลุ่มกลับมองเรื่องศิลปะจากตัวบุคคลที่สร้างสรรค์ โดยมองว่าคนนั้นเป็นศิลปิน คนโน้นเป็นศิลปิน คนนี้ศิลปิน โดยมองที่การแสดงออก มองที่พฤติกรรมการแสดง มองที่อารมณ์อ่อนไหว ก้าวร้าวเป็นศิลปิน กลายเป็นฟั่นเฝือ เลอะเทอะ เปรอะเปื้อนไปกันใหญ่ หาได้มองที่ผลงานเหมือนเก่าก่อนไม่

ที่สำคัญกลับมีบางคนบางกลุ่มยกยอปอปั้นกันเอง ประเภทยกกันเองให้เป็นศิลปิน เป็นอาจารย์ เป็นผู้รู้ เพียงเพราะคนคนนั้นมีมุมมองขวางโลกไม่สนใจใคร ๆ แล้วก็บอกว่าเป็นการนอกกรอบ ก็ว่ากันไปตามยุคสมัย หาใช่เรื่องแปลกใหม่ไม่ และไม่ได้เป็นแต่วงการศิลปะและการถ่ายภาพ มีทุกวงการ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความเชื่อเพราะสามารถชักจูงได้ง่าย กล่าวคือ โลกนี้ยังมีคนหัวอ่อนที่โอนเอนอ่อนไหวอีกเยอะนั่นเอง

จะไปในทิศทางใดต่อไป
สำหรับผู้เขียนแล้วก็ยังถือเจตนารมณ์เดิม มีแนวคิดเดิมคือถ่ายรูปตามใจผู้เขียน แต่ก็ปรับมุมมองเพิ่มคือ ถ่ายรูปอย่างไรให้คนอื่นถูกใจเพิ่มมากขึ้น เพราะเราไม่ได้อยู่ในโลกนี้ สังคมนี้คนเดียว หากแต่เรายังต้องอยู่กับเพื่อนฝูง ยังต้องอยู่กับคนในสังคม หาไม่แล้วจะกลายเป็นการสร้างตัวตนเพื่อให้คนอื่นยกย่องเสียเปล่า ๆ

ดังนั้นการเปิดกว้างรับรู้ เรียนรู้จึงเป็นสิ่งใหม่สำหรับผู้เขียน และฝากไปยังรุ่นน้องหรือผู้ที่ริเริมหัดถ่ายภาพให้ศึกษาเรื่องศิลปะให้ลึกซึ้งอย่ามองเพียงด้านใดด้านหนึ่งอย่างสุดโต่ง แล้วทึกทักคิดเอาเองว่านี่แหละคือแก่นแท้ของงาน แก่นแกนของศิลปะ และยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางว่าเป็นศิลปะ นั่นจะเข้าข่ายหลงตัวเอง

บางคนก็ยึดเอาหลักและทฤษฎีเป็นหลักเสียจนเหมือนแกะออกมาจากตำรา บางคนหลุดกรอบนอกกรอบจนหาทิศทางไม่เจอ ก็แล้วแต่จะคิดกันนะครับ... ฝากไว้ให้คิดแค่นี้ก่อนเดี๋ยวจะมีตอนต่อไปอีกครับ... สวัสดีครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น