26 ธ.ค. 2554

การถ่ายภาพเบื้องต้น: ความสัมพันธ์ระหว่าง Aperture และ Shutter Speed

ตอนที่แล้วได้แนะนำเรื่อง Aperture และ Shutter Speed ไปแล้ว สำหรับตอนนี้จะกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่าง Aperture และ Shutter Speed ซึ่งมีผลต่อการรับแสงของกล้อง (Exposure)

Aperture รู้จักกันดีคือการเปิดหน้ากล้องมีหน่วยวัดเป็น f/stop หรือเรียกกันง่าย ๆ ว่า f... เช่น f2, f4 (จริง ๆ ต้องเขียนเป็น f/2, f/4)

ส่วน Shutter Speed ก็แปลตรงตัวว่า ความเร็วชัตเตอร์ หน่วยวัดเป็น 1/วินาที เช่น 1/125s, 1/250s แต่เรามักจะเรียกย่อ ๆ ว่า ความเร็วชัตเตอร์ 125, 250 โดยละตัวเลขเศษส่วนวินาทีไว้

การเปลี่ยนแปลงความเร็วชัตเตอร์กับหน้ากล้องย่อมส่งผลต่อการรับแสงของกล้องทางใดทางหนึ่ง คือ

เมื่อเปลี่ยนขนาดของ Aperture จะมองว่าแคบหรือกว้างเพื่อเปิดแสงเข้า โดยตัวเลขยิ่งมากจะยิ่งเปิดหน้าเลนส์แคบลงไปมาก (อย่าลืมว่าตัวเลขนั้นจะเป็นตัวหารพื้นที่วงกลมที่จะเปิดให้แสงผ่าน) ทำให้แสงตกกระทบยิ่งน้อยตามภาพที่ได้จะมืด แต่ถ้าเปิดกว้างมากโดยตัวเลขจะน้อยลงจะทำให้แสงตกกระทบยิ่งมากขึ้นทำให้ภาพสว่างมากขึ้น

ส่วนความเร็วชัตเตอร์จะเป็นตัวกำหนดเวลาให้แสงเข้าไปตกกระทบที่เซ็นเซอร์ โดยตัวเลขยิ่งมากจะทำให้ความไวชัตเตอร์ยิ่งมากตาม ส่งผลให้แสงตกกระทบน้อยลงทำให้ภาพมืด (ตัวเลขเป็นตัวหารเวลาใน 1 วินาที) และถ้าตัวเลขยิ่งน้อยจะทำให้ม่านชัตเตอร์เปิดและปิดช้าลง จะทำให้แสงตกกระทบได้มากขึ้นทำให้ภาพสว่าง

ภาพแสดงความสัมพันธ์ของหน้าเลนส์กับความเร็วชัตเตอร์จะเป็นอัตราส่วนผกผันกัน 1:1

จากรูปตัวอย่างจะเห็นว่าการเปิดหน้ากล้องกว้างจะทำให้ต้องใช้ความเร็วม่านชัตเตอร์ให้สูงเพื่อกำหนดให้แสงตกกระทบได้น้อยพอดี และถ้าลดหน้าเลนส์ให้แคบลง ต้องปรับเพิ่มเวลาให้มากขึ้น
ถ้าแสงเข้าได้มากก็ลดเวลารับแสงให้น้อยลง
ถ้าแสงเข้าได้น้อยก็เพิ่มเวลารับแสงให้มากขึ้น
แต่การเปิดให้แสงเข้ามากน้อยต้องสัมพันธ์กับความสามารถทางกายภาพของอุปกรณ์ด้วย เช่น ถ้าเราเปิดหน้ากล้องให้กว้างมาก ๆ แสงเข้ามาได้มาก แต่ก็มีผลกระทบคือ แสงจะฟุ้งกระจาย ทำให้ความคมชดลดน้อยลง และเกิดระยะชัดแคบลง (ชัดตื้น) และกลับกันถ้าต้องการให้แสงเข้ามากโดยเพิ่มระยะเวลาเปิดรับแสงนานเข้าจะทำให้ความไวชัตเตอร์ลดลงจนถึงระดับหนึ่งซึ่งต่ำมากจะทำให้ภาพขาดความคมชัด เพราะกล้องไม่นิ่งต้องใช้ขาตั้งกล้องช่วย

ดังนั้นการกำหนดขนาดหน้าเลนส์กับความเร็วชัตเตอร์จะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ด้วย เช่นต้องการควบคุมระยะชัดให้ลึกหรือตื้นก็กำหนดได้จากการเปิดหน้าเลนส์ หรือต้องการภาพให้นิ่งหรือแสดงการเคลื่อนไหวก็กำหนดความเร็วของชัตเตอร์ได้
การถ่ายรูปบุคคลมักจะนิยมใช้ f/stop กว้าง ๆ เพื่อควบคุมฉากหลังไม่ให้รบกวนตัวแบบ
การถ่ายรูปกีฬามักจะนิยมใช้ Shutter สูง ๆ เพื่อหยุดความเคลื่อนไหว
แต่อย่างไรก็ตามการถ่ายภาพไม่ได้มีรูปแบบตายตัวอาจจะขึ้นอยู่กับแนวคิดของผู้ถ่าย อาจจะใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำและใช้แฟลชเพื่อหยุดความเคลื่อนไหว เพื่อสื่อให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวของตัวแบบก็ทำได้

สุดท้ายผู้เขียนหวังว่าบทความตอนนี้จะทำให้มือใหม่สามารถเข้าใจหลักการการรับแสงได้บ้าง เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการถ่ายภาพในขั้นตอนต่อไป ถึงแม้จะไม่สามารถช่วยให้ผู้อ่านมีความสามารถระดับมืออาชีพได้แต่ก็สามารถเข้าใจหลักการและใช้กล้อง DSLR ได้อย่างคล่องแคล่ว... พบกันใหม่ในตอนหน้าครับ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น