26 ธ.ค. 2554

การถ่ายภาพเบื้องต้น: ความสัมพันธ์ระหว่าง Aperure และ ISO

คราวก่อนได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่าง Aperture และ Shutter Speed หรือการเปิดหน้าเลนส์กับความเร็วของม่านชัตเตอร์ไปเรียบร้อยแล้ว คราวนี้จะมากล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่าง Aperture และ ISO โดยกำหนดให้ความเร็วชัตเตอร์คงที่ที่ 1/250s ซึ่งเป็นความเร็วที่สามารถถือกล้องด้วยมือเปล่าโดยไม่ต้องกลัวภาพเบลอ (Motion Blure)

เราทราบกันแล้วว่าหน้าเลนส์ (Aperture) เมื่อเปิดกว้างมากทำให้แสงตกกระทบมากขึ้น และความเร็วชัตเตอร์ยิ่งมากก็เปิดให้แสงผ่านไปตกกระทบได้น้อยยิ่งขึ้น

ทีนีมาดูว่า ISO เกี่ยวข้องอย่างไร และทราบกันแล้วว่า ISO คือ ค่าความไวต่อแสงของเซ็นเซอร์ตามมาตรฐาน ISO โดยความไวปกติอยู่ที่ 100-200 และถ้ามากกว่านี้คือความไวต่อแสงสูง โดยหลักการแล้วค่า ISO ยิ่งสูงจะทำให้เซ็นเซอร์มีความไวต่อการรับแสงมากขึ้น นั่นหมายความว่าปริมาณแสงเท่าเดิมแต่เมื่อเพิ่ม ISO ขึ้นจะทำให้มีความสว่างเพิ่มมากขึ้น และยิ่งมากเท่าใดความสว่างก็มากขึ้นไปตามลำดับ

แต่ปัญหาที่ตามมาของ ISO ที่สูง ๆ คือ ทำให้เกิดสัญญานรบกวน (Noises) จะเกิดขึ้นในส่วนที่มืดของภาพหรือสีเข้มมากกว่าปกติ นอกจากนี้ยังทำให้คุณภาพของไฟล์ลดลง แต่ข้อดีคือ การกำหนด ISO สูง ๆ จะทำให้สามารถกำหนด f/stop ได้แคบลง หรือ Shutter Speed ได้เร็วมากขึ้น


 จากภาพสมมติว่าแสงปริมาณคงที่ระดับหนึ่งที่วัดแสงพอดีเมื่อใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/250s, ISO 100 จะได้ค่า f อยู่ที่ f/1.4 ซึ่งเป็นหน้าเลนส์ที่กว้างสุด เมื่อเปลี่ยนความเร็ว ISO ไปอีก 1 stop เป็น 200 ปริมาณแสงจะเพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้องเปลี่ยนค่า f ไปอีก 1 stop จาก f/1.4 เป็น f/2.0 และเมื่อเพิ่ม ISO ขึ้นไปอีกก็ต้องปรับค่า f เพิ่มตามแต่ระดับไปเรื่อย ๆ จนหมด

และมีหลายคนได้พูดถึงเรื่องการปรับค่า ISO สูง ๆ จะทำให้เกิด Noises บางคนที่อ้างว่าเป็นมืออาชีพ (ไม่รู้จริงหรือเท็จ) มักจะปฏิเสธการใช้ ISO สูง ๆ บางคนถึงกับวิตกจริตไม่กล้าดันสูงเกิน 400 เพราะกลัว Noises ซึ่งกล้องรุ่นใหม่ ๆ จะสามารถใช้ ISO สูง ๆ ได้เป็นอย่างดี โดยคุณภาพของไฟล์ยังอยู่ในระดับที่รับได้

อีกอย่างหนึ่งก่อนที่จะใช้ ISO สูงหรือไม่ต้องคำนึงถึงเหตุการณ์ด้วย เช่น ถ่ายภาพกลางคืนหรือแสงน้อย เมื่อใช้แฟลชภาพออกมาไม่สวย แต่ถ้าไม่ใช้ภาพก็ไม่ชัด ถ้าเป็นอย่างนี้แนะนำให้ปรับ ISO สูง ๆ ไปเลยไม่ต้องกลัว Noises พร้อมทั้งวัดแสงให้พอดีหรือสว่างเล็กน้อยสัก 1/3 stop ภาพออกมาจะไม่สั่นไหวและ Noises จะยังไม่มากเท่าถ่าย Under
ขอให้ระลึกเสมอว่าอยากได้ภาพที่ไม่มี Noises แต่เบลอ
หรือว่าภาพมี Noises แต่คมชัดระดับหนึ่ง
ลองฝึกฝนทำความเข้าใจกันดูนะครับ หากเข้าใจเรื่อง stop แล้วจะทำให้ใช้งานกล้อง DSLR ได้คล่องขึ้นพอสมควร...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น