29 ธ.ค. 2554

การถ่ายภาพเบื้องต้น: การทำงานของกล้องถ่ายรูป

กล้องถ่ายรูปจะมีหลักการทำงานคล้าย ๆ กัน โดยจะรับแสงผ่านเลนส์ไปยังเซ็นเซอร์เพื่อบันทึกค่าแสงและแปลงมาเป็นภาพภายหลัง หากแสงจากธรรมชาติน้อยเกินไป ก็มีการชดเชยแสงหรือไม่ก็ใช้แสงประดิษฐ์เพื่อช่วย เช่น แฟลช เป็นต้น

ภายในกล้องก็จะมีอุปกรณ์ในการตรวจสอบวัดแสงกำหนดค่าต่าง ๆ มากม่าย รูปที่ลงนี้เป็นภาพโครงสร้างโดยรวม จะหาคำอธิบายภายหลังลองทำความเข้าใจไปก่อนนะครับ


โครงสร้างกล้องถ่ายรูป Canon


26 ธ.ค. 2554

การถ่ายภาพเบื้องต้น: รู้จัก DOF, Depth Of Field และ Hyperfocal distance

ผู้ที่เริ่มถ่ายภาพแรก ๆ มักจะตื่นเต้นกับการได้ภาพโดยไม่สนใจองค์ประกอบ การจัดภาพให้สวยงาม มักจะใช้ Subject Mode นับตั้งแต่ Full Auto ไปจนถึงการกำหนดรูปแบบการถ่ายด้วยกล้องไม่ว่าจะเป็น ถ่ายรูปวิว คน กลางคืน ภาพกีฬาเป็นต้น จากนั้นก็ขยับมาที่ Mode Semi-manual เริ่มจากโหมด P เห็นโหมด Auto ที่สามารถปรับค่าได้ ไปจนถึงปรับค่า Aperture, และความเร็วชัตเตอร์เอง สุดท้ายก็ขยับไปที่ Mode Manual ที่ปรับเองทุกอย่าง แม้กระทั่งระบบการโฟกัส

แรก ๆ ก็สนุกกับการได้ภาพแต่พอนาน ๆ เข้าก็เริ่มรู้สึกจะคล่องตัวและไม่พอใจกับรูปแบการถ่ายรูปเดิม ๆ เสียแล้ว ก็จะปรับโน่นแต่งนี่ และมองหาสิ่งดี ๆ โดยเฉพาะได้รับแรงจูงใจจากภาพที่คนอื่นถ่าย พอมาถ่ายวัตถุหรือบุคคลก็เริ่มจะมองหาสิ่งแปลกใหม่ โดยเฉพาะภาพบุคคลจะเน้นการละลายฉากหลังเพื่อให้รกจนแย่งความโดดเด่นไปจากตัวแบบ ก็เริ่มมองเรื่องเลนส์ สอบถามไปตามผู้มีประสบการณ์ก็บอกว่าให้ใช้เลนส์ทีมี f กว้าง ๆ จะทำให้ได้ภาพเบลอ ส่วนใหญ่ก็แนะนำให้ใช้ 50mm f/1.8

มือใหม่ทั้งหลายเมื่อกระโดดเข้ามาเล่นเลนส์ fixed ขนาด 50mm f/1.8 ก็เพื่อหวังจะได้ค่า f กว้าง ๆ เพื่อละลายฉากหลัง แต่เมื่อถ่ายแล้วก็มักจะไม่ค่อยสมหวังนักเพราะภาพขาดความคมชัด เรียกได้ว่าเบลอสมใจทั้งฉากหลังและวัตถุ

การถ่ายภาพเบื้องต้น: กฎ Sunny 16

ปกติแล้วกล้องรุ่นใหม่ ๆ จะมีอุปกรณ์วัดแสงในตัวและมีประสิทธิภาพมาก สามารถกำหนดวิธีการวัดหลาย ๆ แบบ แต่สำหรับตากล้องรุ่นเก่า ๆ (รุ่นใหม่ที่สนใจก็รู้) จะทราบกันดีว่าการคาดคะเนแสงจากธรรมชาติด้วยวิธีการง่าย ๆ โดยขนาดแสงปริมาณนี้จะใช้ค่า f เท่าใด เรียกว่า กฎ Sunny 16
sunny 16 rule. A simple exposure guideline stating that, in
bright daylight and with the aperture set at f/16, a correct exposure
can be made by setting the shutter speed to the nearest
inverse of the ISO (for example, at ISO 100 the shutter would
be set to 1/125 second).
โดยเริ่มจากการกำหนด ISO 100 และ ความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/100 แล้วจะได้ค่า f อยู่ที่ f/16 สำหรับถ่ายรูปกลางแจ้งที่มีแดดแรงจัด และถ้าสภาพแสงลดน้อยน้อยลงก็ปรับหน้าเลนส์ลดลงตามไปด้วย

สำหรับความเร็วชัตเตอร์ 1/100s ในกล้องรุ่นเก่า ๆ จะไม่มีก็จะใช้ 1/125s แทน ซึ่งผลไม่แตกต่างกันมากนัก

การถ่ายภาพเบื้องต้น: ความสัมพันธ์ระหว่าง Aperure และ ISO

คราวก่อนได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่าง Aperture และ Shutter Speed หรือการเปิดหน้าเลนส์กับความเร็วของม่านชัตเตอร์ไปเรียบร้อยแล้ว คราวนี้จะมากล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่าง Aperture และ ISO โดยกำหนดให้ความเร็วชัตเตอร์คงที่ที่ 1/250s ซึ่งเป็นความเร็วที่สามารถถือกล้องด้วยมือเปล่าโดยไม่ต้องกลัวภาพเบลอ (Motion Blure)

เราทราบกันแล้วว่าหน้าเลนส์ (Aperture) เมื่อเปิดกว้างมากทำให้แสงตกกระทบมากขึ้น และความเร็วชัตเตอร์ยิ่งมากก็เปิดให้แสงผ่านไปตกกระทบได้น้อยยิ่งขึ้น

ทีนีมาดูว่า ISO เกี่ยวข้องอย่างไร และทราบกันแล้วว่า ISO คือ ค่าความไวต่อแสงของเซ็นเซอร์ตามมาตรฐาน ISO โดยความไวปกติอยู่ที่ 100-200 และถ้ามากกว่านี้คือความไวต่อแสงสูง โดยหลักการแล้วค่า ISO ยิ่งสูงจะทำให้เซ็นเซอร์มีความไวต่อการรับแสงมากขึ้น นั่นหมายความว่าปริมาณแสงเท่าเดิมแต่เมื่อเพิ่ม ISO ขึ้นจะทำให้มีความสว่างเพิ่มมากขึ้น และยิ่งมากเท่าใดความสว่างก็มากขึ้นไปตามลำดับ

แต่ปัญหาที่ตามมาของ ISO ที่สูง ๆ คือ ทำให้เกิดสัญญานรบกวน (Noises) จะเกิดขึ้นในส่วนที่มืดของภาพหรือสีเข้มมากกว่าปกติ นอกจากนี้ยังทำให้คุณภาพของไฟล์ลดลง แต่ข้อดีคือ การกำหนด ISO สูง ๆ จะทำให้สามารถกำหนด f/stop ได้แคบลง หรือ Shutter Speed ได้เร็วมากขึ้น


การถ่ายภาพเบื้องต้น: ความสัมพันธ์ระหว่าง Aperture และ Shutter Speed

ตอนที่แล้วได้แนะนำเรื่อง Aperture และ Shutter Speed ไปแล้ว สำหรับตอนนี้จะกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่าง Aperture และ Shutter Speed ซึ่งมีผลต่อการรับแสงของกล้อง (Exposure)

Aperture รู้จักกันดีคือการเปิดหน้ากล้องมีหน่วยวัดเป็น f/stop หรือเรียกกันง่าย ๆ ว่า f... เช่น f2, f4 (จริง ๆ ต้องเขียนเป็น f/2, f/4)

ส่วน Shutter Speed ก็แปลตรงตัวว่า ความเร็วชัตเตอร์ หน่วยวัดเป็น 1/วินาที เช่น 1/125s, 1/250s แต่เรามักจะเรียกย่อ ๆ ว่า ความเร็วชัตเตอร์ 125, 250 โดยละตัวเลขเศษส่วนวินาทีไว้

การเปลี่ยนแปลงความเร็วชัตเตอร์กับหน้ากล้องย่อมส่งผลต่อการรับแสงของกล้องทางใดทางหนึ่ง คือ

เมื่อเปลี่ยนขนาดของ Aperture จะมองว่าแคบหรือกว้างเพื่อเปิดแสงเข้า โดยตัวเลขยิ่งมากจะยิ่งเปิดหน้าเลนส์แคบลงไปมาก (อย่าลืมว่าตัวเลขนั้นจะเป็นตัวหารพื้นที่วงกลมที่จะเปิดให้แสงผ่าน) ทำให้แสงตกกระทบยิ่งน้อยตามภาพที่ได้จะมืด แต่ถ้าเปิดกว้างมากโดยตัวเลขจะน้อยลงจะทำให้แสงตกกระทบยิ่งมากขึ้นทำให้ภาพสว่างมากขึ้น

ส่วนความเร็วชัตเตอร์จะเป็นตัวกำหนดเวลาให้แสงเข้าไปตกกระทบที่เซ็นเซอร์ โดยตัวเลขยิ่งมากจะทำให้ความไวชัตเตอร์ยิ่งมากตาม ส่งผลให้แสงตกกระทบน้อยลงทำให้ภาพมืด (ตัวเลขเป็นตัวหารเวลาใน 1 วินาที) และถ้าตัวเลขยิ่งน้อยจะทำให้ม่านชัตเตอร์เปิดและปิดช้าลง จะทำให้แสงตกกระทบได้มากขึ้นทำให้ภาพสว่าง

ภาพแสดงความสัมพันธ์ของหน้าเลนส์กับความเร็วชัตเตอร์จะเป็นอัตราส่วนผกผันกัน 1:1

จากรูปตัวอย่างจะเห็นว่าการเปิดหน้ากล้องกว้างจะทำให้ต้องใช้ความเร็วม่านชัตเตอร์ให้สูงเพื่อกำหนดให้แสงตกกระทบได้น้อยพอดี และถ้าลดหน้าเลนส์ให้แคบลง ต้องปรับเพิ่มเวลาให้มากขึ้น
ถ้าแสงเข้าได้มากก็ลดเวลารับแสงให้น้อยลง
ถ้าแสงเข้าได้น้อยก็เพิ่มเวลารับแสงให้มากขึ้น
แต่การเปิดให้แสงเข้ามากน้อยต้องสัมพันธ์กับความสามารถทางกายภาพของอุปกรณ์ด้วย เช่น ถ้าเราเปิดหน้ากล้องให้กว้างมาก ๆ แสงเข้ามาได้มาก แต่ก็มีผลกระทบคือ แสงจะฟุ้งกระจาย ทำให้ความคมชดลดน้อยลง และเกิดระยะชัดแคบลง (ชัดตื้น) และกลับกันถ้าต้องการให้แสงเข้ามากโดยเพิ่มระยะเวลาเปิดรับแสงนานเข้าจะทำให้ความไวชัตเตอร์ลดลงจนถึงระดับหนึ่งซึ่งต่ำมากจะทำให้ภาพขาดความคมชัด เพราะกล้องไม่นิ่งต้องใช้ขาตั้งกล้องช่วย

ดังนั้นการกำหนดขนาดหน้าเลนส์กับความเร็วชัตเตอร์จะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ด้วย เช่นต้องการควบคุมระยะชัดให้ลึกหรือตื้นก็กำหนดได้จากการเปิดหน้าเลนส์ หรือต้องการภาพให้นิ่งหรือแสดงการเคลื่อนไหวก็กำหนดความเร็วของชัตเตอร์ได้
การถ่ายรูปบุคคลมักจะนิยมใช้ f/stop กว้าง ๆ เพื่อควบคุมฉากหลังไม่ให้รบกวนตัวแบบ
การถ่ายรูปกีฬามักจะนิยมใช้ Shutter สูง ๆ เพื่อหยุดความเคลื่อนไหว
แต่อย่างไรก็ตามการถ่ายภาพไม่ได้มีรูปแบบตายตัวอาจจะขึ้นอยู่กับแนวคิดของผู้ถ่าย อาจจะใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำและใช้แฟลชเพื่อหยุดความเคลื่อนไหว เพื่อสื่อให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวของตัวแบบก็ทำได้

สุดท้ายผู้เขียนหวังว่าบทความตอนนี้จะทำให้มือใหม่สามารถเข้าใจหลักการการรับแสงได้บ้าง เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการถ่ายภาพในขั้นตอนต่อไป ถึงแม้จะไม่สามารถช่วยให้ผู้อ่านมีความสามารถระดับมืออาชีพได้แต่ก็สามารถเข้าใจหลักการและใช้กล้อง DSLR ได้อย่างคล่องแคล่ว... พบกันใหม่ในตอนหน้าครับ...

25 ธ.ค. 2554

การถ่ายภาพเบื้องต้น: รู้จัก ISO, Aperture และ Shutter

ครั้งก่อนได้กล่าวถึง การรับแสงของกล้องถ่ายรูป ไปแล้ว คราวนี้มาดูเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการรับแสงประกอบ ISO, Aperture และ Shutter ซึ่งเป็นส่วนประกอบในการกำหนดการรับแสงของกล้องถ่ายรูป


การกำหนดให้กล้องรับแสงมากน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 อย่างนี่แหละ และการปรับแต่ละอย่างจะมีผลต่อภาพและการถ่ายภาพ คือ สัญญานรบกวน (Noise), ความเคลื่อนไหว (Speed) และระยะชัด (Depth of Field)


ISO (International Standard Organization,ISO 5800:1987)

ในอดีตที่ยังใช้ฟิล์มถ่ายรูปมีการกำหนดมาตรฐานการผลิตฟิล์มเพื่อให้ใช้ในสภาพแสงต่าง ๆ เรียกว่า ISO (มาตรฐานอเมริกาใช้ ASA, เยอรมันใช้ DIN) เพื่อให้คุณภาพเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยกำหนดประเภทฟิล์มตามความไวแสงที่นิยมใช้กันคือ ISO 50, 100, 200, 400, 800 และ 1,600 โดยค่าจะเริ่มต้นค่าใดค่าหนึ่งแล้วเพิ่มขึ้นทีละเท่าตัว เรียกว่า 1 สต็อป

ปัจจุบันกล้องถ่ายรูปเป็นระบบดิจิตอลก็ยังคงมาตรฐานความไวต่อแสงของเซ็นเซอร์เหมือนกันเรียกว่า ISO โดยจะเห็นกันที่ 100, 200, 400 ไปจนถึง 2 แสนกว่า ๆ ก็มีในกล้องบางรุ่น (บางรุ่นสามารถลดต่าลงถึง 25)


ปกติแสงที่วิ่งผ่านเลนส์ไปหาเซ็นเซอร์รับภาพจะมีค่าแปรผันตามช่วงเวลา สถานที่ เมื่อ ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง แสงจะมีค่าเกือบคงที่ แต่เราสามารถเลือกใช้ ISO ได้ตามสภาพแสง คือ แสงมาก กลางแจ้ง ใช้ ISO 100 ถ้าในร่มแสงน้อยปรับไปที่ 400, 800 หรือ 1600 ก็แล้วแต่สภาพแสง

เมื่อปรับเซ็นเซอร์ให้มีความไวต่อแสงมากขึ้นทำให้ความสว่างเพิ่มมากขึ้น แต่มีสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ตามมาคือ สัญญานรบกวนที่เกิดขึ้นเมื่อเปลี่ยน ISO เรียกว่า Noise ซึ่งเกิดจากการทำงานของเซ็นเซอร์แล้วเกิดความร้อน และขนาดของสัญญานรบกวนจะถูกขยายให้ใหญ่ตามเมื่อเราเร่งให้เซ็นเซอร์ให้ไวต่อแสงมากขึ้น

ปกติกล้องทั่วไปเมื่อใช้ ISO เกิน 400 ก็จะมี Noise ให้เห็น หรือแม้แต่ใช้ ISO 100 หากถ่ายมืดกว่าความเป็นจริง (Under Exposure) ก็ทำให้เกิด Noise ได้โดยเฉพาะเมื่อนำมาปรับแสงให้สว่างขึ้น

ดังนั้นหากเป็นไปได้ควรถ่ายให้สว่างพอดีหรือมากกว่าปกติสักเล็กน้อยเพื่อหลีกเลี่ยง Noise


ภาพนี้ถ่ายด้วย ISO 3200 แต่วัดแสงให้พอดีแล้วปรับสว่างอีกนิดสังเกตมี Noise พอรับได้

ภาพนี้ถ่ายด้วย ISO 3200 เหมือนข้างบนแต่ Under Exposure 1 stop แล้วมาปรับแสงเพิ่มภายหลังมี Noise เยอะมาก

Aperture - รูรับแสง, f-stop

สิ่งที่กำหนดปริมาณแสงที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง รูปรับแสงจะเป็นตัวกำหนดให้แสงวิ่งผ่านไปกระทบเซ็นเซอร์มากน้อยตามกำหนด โดยทั่วไปอุปกรณ์ที่กำหนดปริมาณนี้จะอยู่ที่เลนส์เรียกว่า Diaphragm (ไดอะแฟรม) จะเป็นแผ่นโลหะบาง ๆ ซ้อนกันเหมือนกลีบดอกไม้ จะมี 5, 7, 9 บางรุ่นอาจจะมีถึง 22 กลีบ (Blade)

เลนส์รุ่นเก่าจะสามารถมองเห็นแผ่นไดอะแฟรมที่ใช้กำหนดปริมาณแสงเข้า ในรูปเป็นเลนส์ Pentax หน้ากล้องแคบที่สุดคือ f/22
การปรับแผ่นไดอะแฟรมให้เปิดมากน้อยเรียกว่าปรับค่า f-stop ซึ่งจะเขียนเป็นตัวเลขตามลำดับความกว้างไปถึงแคบ เช่น f/1.4, f/2, f/2.8, f/4, f/5.6, f/8, f/11, f/16, และ f/22 ซึ่งค่าเหล่านี้ได้มาจากสมการ

f/1 = \frac{f/1}{(\sqrt{2})^0} , f/1.4 = \frac{f/1}{(\sqrt{2})^1} ,f/2 =  \frac{f/1}{(\sqrt{2})^2} , f/2.8 =  \frac{f/1}{(\sqrt{2})^3} ...

คิดง่าย ๆ มาจากค่าของสแคว์รูท 2 ยกกำลังด้วยลำดับก็จะได้ค่า f ซึ่งจะไม่เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณเหมือน ISO

อีกสูตรหนึ่งสำหรับคำนวนค่า f คือ N = 2i/2 , i = 1, 2, 3,... จะได้ f/1.4, f/2, f/2.8,...

สำหรับปัจจุบันกล้องและเลนส์ได้พัฒนาไปมากสามารถกำหนดให้เปิดไดอะแฟรมได้ทีละ 1/2 และ 1/3 stop ทำให้สามารถเปิดรับแสงได้ละเอียดยิ่งขึ้น

แต่สำหรับผู้เขียนแล้วมักจะนิยมใช้ค่า f-stop แบบ 1/2 เพราะจะทำให้จำง่ายกับค่า ISO ที่ขึ้นทีละ 1 stop ตัวอย่างเช่น

ถ่ายรูปในร่มวัดแสงได้ ISO 400 หน้ากล้องเปิด f/2.8 และความเร็วชัตเตอร์ 1/250 ถ้าเปลี่ยน ISO เป็น 100 ลดลงมา 2 stop ทำให้ปริมาณแสงน้อยเกินไปต้องปรับเปลี่ยนการเปิดรับหน้ากล้องให้กว้างมากขึ้น หรือจะลดความเร็วชัตเตอร์ลงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองก็ยังได้ เช่น ปรับหน้าเลนส์ให้กว้างจาก f/2.8 มาเป็น 1.4 หรือ ปรับความเร็วจาก 1/250 มาเป็น 1/60 ก็ได้ (ค่อยมาทำความเข้าใจในเรื่องการวัดแสงอีกครั้งหนึ่ง)


ความเร็วชัตเตอร์ (Shutter Speed)

ในอดีตกล้องจะใช้กลไกผ้าสีดำเพื่อกั้นเพื่อควบคุมปริมาณแสงให้ตกกระทบที่ฟิล์มตามต้องการ (ดูจากรูปวีดีโอ) เมื่อกดลั่นชัตเตอร์แล้วกลไกจะเปิดตามระยะเวลาที่กำหนดและจะได้ยินเสียงดับฉับ ๆ มาจากกล้อง แต่ปัจจุบันกล้องดิจิตอลได้เปลี่ยนไปใช้ม่านอิเล็กทรอนิกส์ แต่ก็ยังมีเสียงอยู่เหมือนเดิมแต่ไม่ดังเท่ารุ่นเก่า


การเปิดรับแสงแต่ละครั้งจะมีค่า 1/n โดยตัวเลขที่กำหนดจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของค่าเดิม แต่ถ้าสังเกตดูจากค่าความเร็วแล้วจะไม่เป็นค่าเพิ่มขึ้นแบบเท่าตัวพอดี เช่น ความเร็วเริ่มจาก 1s เป็นต้นไปจะได้

1s, 1/2s, 1/4, 1/8s, 1/30s, 1/60s, 1/125s, 1/250s, 1/500s, 1/1000s, 1/2000s, 1/4000s และ 1/8000s

ค่าตัวเลขเหล่านี้หากปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยมักจะไม่มีผลมากนัก จากตัวเลขจะเห็นว่าความไวชัตเตอร์ยิ่งมากจะเปิดรับแสงได้น้อยยิ่ง ๆ ขึ้น หรือม่านชัตเตอร์ปิดเปิดเร็วขึ้น

การปิดเปิดช้าจะทำให้ภาพเกิดการเคลื่อนไหวเพราะเซ็นเซอร์มีเวลาในการรับแสงมากขึ้น เมื่อแบบขยับภาพที่บันทึกจะเหมือนมีการเคลื่อนไหว และถ้าม่านชัตเตอร์เปิดปิดในระยะเวลาสั้น ๆ ภาพที่บันทึกจะเป็นภาพไม่มีการเคลื่อนไหว (ถ่ายรถวิ่งให้หยุดนิ่งได้)

ระยะเวลานี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการถ่ายภาพ เช่น ต้องการถ่ายภาพเพื่อหยุดการเคลื่อนไหวต้องกำหนดความเร็วของชัตเตอร์ให้ใช้เวลาเปิดปิดน้อยที่สุดโดยตัวเลขตัวหารจะมีค่าสูง ๆ และต้องการถ่ายภาพน้ำตกให้สวยงามพริ้วไหวก็ใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ๆ

ปกติแล้วเราจะต้องระมัดระวังเรื่องความเร็วชัตเตอร์เพื่อป้องกันภาพไม่คมชัดอีกด้วยเมื่อต้องถ่ายภาพโดยไม่มีขาตั้งกล้อง ซึ่งจะทำให้กล้องเกิดการสั่นไหวแม้เพียงเล็กน้อยก็จะมีผลให้ภาพไม่ชัดหากใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ๆ

โดยเราสามารถกำหนดคร่าว ๆ ได้จากค่าความเร็วชัตเตอร์เป็น 1/ทางยาวของเลนส์ เช่น ใช้ 50mm จะต้องมีความเร็วชัตเตอร์ไม่ต่ำกว่า 1/60s (ค่าใกล้เคียง 1/50) แต่ถ้าเป็นกล้องตัวคูณก็ต้องคูณเพิ่มเข้าไปเช่น Nikon ต้องคูณ 1.5 จะได้ 1.5 x 50 = 75 ดังนั้นต้องกำหนดค่าความเร็วชัตเตอร์ไม่ต่ำกว่า 1/75 แต่ในทางปฏิบัติแล้วควรจะเป็น 1/125s เป็นต้นไปถึงจะไม่ผิดพลาด


จากข้อมูลทั้งหมดก็พอทราบรายละเอียดเกี่ยวกับกลไกในการรับแสงของกล้องแล้วบทความต่อไปจะมาลงรายละเอียดในเรื่องการวัดแสง และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง... ขอบคุณมากครับ...

21 ธ.ค. 2554

ถ่ายภาพเบื้องต้น: การรับแสงของกล้องถ่ายภาพ

การถ่ายภาพเป็นกิจกรรมที่ผ่อนคลายและสร้างความสุนทรีย์แก่ผู้ถ่ายเป็นอย่าง มาก แต่เชื่อหรือไม่หลาย ๆ คนกลับเครียดกับการถ่ายภาพ อย่างน้อยก็ตอนเริ่มต้น เพราะยังไม่รู้จะเริ่มอย่างไรดีโดยเฉพาะเมื่อเริ่มใช้ DSLR

แต่สำหรับบางคนอาจจะไม่เครียดอะไรมากนักเพราะการถ่ายภาพคือกิจกรรมหนึ่ง สำหรับบันทึกเหตุการณ์ ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยสนใจด้วยว่าจะใช้กล้องอะไร ผู้คนจำพวกนี้มักจะเน้นความสามารถของกล้องเป็นหลัก

สำหรับคนที่ชื่นชอบการถ่ายภาพแล้วมักจะมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของศิลปะ จึงมีหลายคนที่เสียค่าใช้จ่ายมากมายเพื่อได้ถ่ายภาพตามที่ตัวเองต้องการ แต่หลายคนก็มักจะพลาดหวัง ผิดหวังและล้มเลิกไปเสีย

สาเหตุก็เพราะถ่ายรูปแล้วไม่ได้ดังใจต้องการ หลายคนพลอยคิดไปว่าการถ่ายภาพจะได้ภาพดีต้องใช้อุปกรณ์ดี ๆ เท่านั้น ซึ่งก็ถูกเพียงส่วนหนึ่ง เพราะภาพสวย ๆ จะต้องประกอบด้วย อุปกรณ์+คน+สภาพแวดล้อม+องค์ประกอบ จะเห็นได้ว่ากล้องเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้นไม่ใช่ปัจจัยหลักเพียงอย่างเดียว

แล้วจะทำอย่างไรถึงจะถ่ายภาพสวย... สำหรับผู้เขียนแล้วคำนึงอยู่ตลอดเวลาว่า การถ่ายภาพคือการหยุดเวลา

ดังนั้นจึงควรศึกษาองค์ประกอบต่าง ๆ โดยเริ่มจากกล้องถ่ายรูปก่อนว่ามีหลักการทำงานอย่างไร

บทความนี้จะเริ่มต้นในเรื่องของแสงและการรับแสงของกล้องถ่ายภาพก่อน

แสงสำหรับการถ่ายภาพ
กล้องดิจิตอลกับกล้องฟิล์มมีหลักการทำงานเหมือนกัน ต่างกันตรงที่กล้องดิจิตอลใช้เซ็นเซอร์ในการรับแสงและจัดเก็บในรูปแบบ ดิจิตอลหรือตัวเลขค่าของแสงลงในไฟล์ภาพ ส่วนกล้องฟิล์มเก็บแสงไว้ในฟิล์ม ซึ่งเป็นแผ่นเซลลูลอยด์ไวต่อแสง หลังจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการหยุดหรือคงสภาพของฟิล์มไม่ให้เปลี่ยนแปลงต่อ แสงในภายหลัง (การล้างฟิล์ม)

การรับแสงในภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า Exposure และแสงในธรรมชาติ (จากดวงอาทิตย์) นั้นจะเป็นแสงสีขาว (RGB) เมื่อตกกระทบรงควัตถุจะให้สีสะท้อนแยกสีเป็น CMY (C = Cyan - ฟ้า, M = Magenta - ม่วงแดง และ Y = Yellow - เหลือง)
แสงชนิด RGB เมื่อผ่านปริซึมแล้วจะเกิดหักเหของแสง (หลักการเดียวกับการเกิดรุ้ง)


ดังนั้นแสงที่ใช้ในการถ่ายภาพคือเป็นแสงจากแหล่งกำเนิดหรือแสงจากธรรมชาติ และแสงประดิษฐ์ ที่มนุษย์สร้างเลียนแบบธรรมชาติ ซึ่งเป็นแสงจากแหล่งกำเนิดทั้งสิ้น จึงเป็นแสงแบบ RGB ซึ่งตามหลักการแล้วจะเป็นแสงขาวเมื่อรวมกันแล้ว

แสงที่มองเห็นจะเป็นช่วงแคบ ๆ คือ แดง เขียว น้ำเงิน เท่านั้นหรือเหลือก็เป็นอัลตราไวโอเล็ต และอินฟาเรด


แต่บางครั้งแสงก็ไม่เป็นไปตามที่คาดคิดตามช่วงเวลาแทนที่จะขาวแต่ก็เปลี่ยน เป็นสีอื่นเจอปนเพราะสภาพสิ่งแวดล้อม กล้องในปัจจุบันจึงมีการแก้ไขความผิดพลาดของแสงขาวมาด้วยเรียกว่า White Balance ภาษาไทยก็แปลตรงตัวว่า สมดุลแสงขาว เพื่อกำหนดให้กล้องปรับการรับแสงเสียใหม่ให้ใกล้เคียงกับแสงธรรมชาติมากที่ สุด


กล้องรับแสงอย่างไร?
แสงที่มาจากแหล่งกำเนิดเมื่อกระทบกับวัตถุแล้วจะก่อให้เกิดการสะท้อนกลับ ซึ่งวัตถุต่าง ๆ จะมีคุณสมบัติการสะท้อนแสงมากน้อยต่างกัน ทำให้สายตาเรามองเห็นสีต่าง ๆ ตามการดูดซับและสะท้อนแสง เช่นวัตถุสีแดง จะมีการดูดแสงสีเขียวและน้ำเงินไว้แต่จะสะท้อนกลับสีแดงออกมา ซึ่งคุณสมบัติการสะท้อนมากน้อยของวัตถุทำให้เกิดสีแดงตามระดับและเรียกการ ไล่สีตามระดับนี้ว่า โทนสีหรือวรรณะสี ภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า Color tone และเราอาจจะได้ยินสีโทนแดง โทนเขียว และในแต่ละสีก็จะมีความมืดหรือสว่างมากน้อยตามเฉดสี (Shade) หากผู้อ่านเข้าใจเรื่อง Color, Tone และ Shade แล้วจะเข้าใจการถ่ายภาพมากยิ่งขึ้น

ในกล้องดิจิตอลก็จะมีเซ็นเซอร์รับแสงตามสี RGB เป็นตารางมีจำนวนมากน้อยตามคุณภาพของเซ็นเซอร์ที่รู้จักกันในยุคนี้คือ Pixel ซึ่งเป็นจุดรับแสงเหมือนในรูป




การควบคุมปริมาณแสงให้ตกกระทบเซ็นเซอร์ให้พอดีภาพจึงจะออกมาสวยงาม คำว่าสวยงามในการถ่ายภาพคือ ปริมาณที่เหมาะสมไม่มากไม่น้อย แต่ถ้ารับแสงมากเกินไปก็จะเรียกว่า Over Exposure ทำให้ภาพสว่างมากจนบริเวณสีขาวเสียรายละเอียดไป และถ้ารับแสงน้อยเกินไปก็เรียกว่า Under Exposure ทำให้ภาพมืด และมืดจนส่วนสีดำเสียรายละเอียด

แสงจากการตกกระทบวัตถุจะวิ่งผ่านเลนส์เข้าไปในกล้อง (แสงสะท้อน) และตกกระทบเซนเซอร์รับแสงซึ่งแต่ละเซลล์จะมีความไวแสงแยกเป็นสี RGB ภาพจะสวยหรือไม่สวยก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเซ็นเซอร์ และคุณภาพของแสงที่ตกกระทบเลนส์



คุณภาพแสงจะดีมากน้อยนั้นขึ้นอยู่กับเลนส์ โดยเลนส์ก็มีหลากหลายและให้คุณภาพแตกต่างกันโดยราคาก็แตกต่างตามคุณภาพ

ชิ้นเลนส์จะเป็นตัวกำหนดแสงและความคลาดเคลื่อน การฟุ้งกระจายของแสง ซึ่งจะส่งผลต่อภาพทั้งสิ้น

การจะกำหนดปริมาณแสงได้เราต้องวัดแสงที่ตกกระทบมาเข้ากล้องก่อนเรียกว่า การวัดแสง (Light Metering) ซึ่งการวัดแสงนั้นจะขึ้นอยู่กับกล้องว่ามีความสามารถมากน้อยแค่ไหน (จะกล่าวถึงภายหลัง) สำหรับกล้องรุ่นใหม่ ๆ จะมีระบบวัดแสงอัติโนมัติ ซึ่งสามารถทำงานได้เป็นอย่างดี แต่บางสภาพแวดล้อมอาจจะทำให้กล้องวัดแสงผิดพลาดได้ แต่อย่างไรก็ตามกล้องเหล่านั้นจะสามารถบังคับให้กล้องรับแสงมากหรือน้อยกว่า ปกติที่วัดได้ เรียกว่า ชดเชยแสง (Exposure Compensation)

ตัวอย่างภาพทั้ง 3 แบบ

Under Exposure

Correct Exposure

Over Exposure
ทั้งสามภาพตัวอย่างให้สังเกตสีดำบริเวณหัววัวไม้ ภาพแรกจะดำเข้มจนมองไม่ออก ภาพกลางจะมองออกว่าว่ามีคราบมีรอยเล็กน้อย ส่วนภาพที่สามสีดำกลายเป็นเทาดำไปเสีย

ในบทความนี้ผู้อ่านคงทราบแล้วว่ากล้องรับแสงอย่างไร และการรับแสงไม่ถูกต้องเป็นอย่างไร คราวหน้าจะมากล่าวถึงการกำหนดปริมาณการรับแสงของกล้องถ่ายรูป
-----------------------
บทความต่อเนื่อง
  1. การถ่ายภาพเบื้องต้น: รู้จัก ISO, Aperture และ Shutter
  2. การถ่ายภาพเบื้องต้น: ความสัมพันธ์ระหว่าง Aperture และ Shutter Speed 
  3. การถ่ายภาพเบื้องต้น: กฎ Sunny 16 
  4. การถ่ายภาพเบื้องต้น: รู้จัก DOF, Depth Of Field และ Hyperfocal distance
  5. การถ่ายภาพเบื้องต้น: การทำงานของกล้องถ่ายรูป 

23 พ.ย. 2554

การเลือกซื้อกล้อง DSLR ของผม

บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อแนะนำวิธีการซื้อกล้อง DSLR สำหรับมือใหม่นะครับ มือเก่าขั้นเทพก็ผ่าน ๆ ไปได้เลย เดี๋ยวจะเป็นการเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน แต่ถ้ามีอะไรผิดพลาดก็แนะนำเพื่อแก้ไขปรับปรุงได้ครับ

กล้องดิจิตอลเป็นปัจจัยสำคัญในปัจจุบัน อย่างน้อยก็ใช้งานจากมือถือกันบ้าง สำหรับบางคนอาจจะเริ่มจากมือถือหรือคอมแพคแล้วติดใจอยากซื้อ DSLR (Digital Single Len Reflex) ซึ่งทำให้โอกาสการเก็บภาพและความสวยงาม คมชัดมากกว่า ถึงแม้ว่าจะมีโทรศัพท์รุ่นใหม่ ๆ สามารถถ่ายภาพได้ดีพอ ๆ คอมแพคคุณภาพสูงหลายรุ่น แต่ก็ยังเป็นปัญหาในบางสถานการณ์ซึ่งไม่สามารถควบคุมหรือปรับได้ตามต้องการ แต่กล้องประเภทนี้จะเน้นการใช้งานที่หลากหลาย ลูกเล่นเยอะ ๆ แต่เอาเข้าจริงถ้าหากจริงจังแล้วก็หนีไม่พ้น DSLR อย่างแน่นอน

ปัจจุบันราคากล้อง DSLR ลดลงเป็นอย่างมาก ตามด้วยรุ่นที่หลากหลาย แต่ละค่ายก็ขยันออกกันเหลือเกิน สุดท้ายหากแยกแยะประเภทแล้วก็มีอยู่เพียง 4 ระดับคือ
  1. Entry Level เป็นรุ่นลองชิมลางเพื่อดูว่า DSLR เป็นอย่างไร เช่น Canon 1100D และ Nikon เป็น D3100 (ดู ๆ แล้วน่าจะเหนือกว่า 1100D เหมือนกัน)
  2. Amature Level เป็นรุ่นมือสมัครเล่น แต่จริงจังกับการถ่ายรูป เช่น Canon คือ 550D, 600D และ Nikon เป็น D5100
  3. Semi-Pro เป็นรุ่นกึ่งโปรหรือจริงจังในการถ่ายภาพ เช่น Caon เป็น 50D, 60D และ Nikon เป็น D7000 (แต่ดู ๆ แล้ว D7000 จะเหนือกว่าของ Canon เสียอีก และราคาก็แพงกว่า น่าจะสู้ 7D ได้สบาย ๆ )
  4. Prosumer หรือรุ่นเทพของค่ายนั้น ๆ เช่น Canon เป็น 1D, 5D และ Nikon เป็น D3
และคำถามมักจะได้รับเสมอคือควรซื้อรุ่นไหน ผมเองก็คิดแบบตัวเองก่อนแล้วกันว่า

เมื่อก่อนแรกเริ่มเดิมทีกระโดดเข้ามาในวง DSLR ก็คิดว่าเริ่มจาก EOS-400D ก็พอแล้วสำหรับงานถ่ายภาพท่องเที่ยวประกอบเว็บ แต่ต่อมาก็เพิ่มเลนส์ และเปลี่ยนบอดี้มาเป็น EOS-50D คิดว่าพอแล้วแต่ก็เพิ่มเลนส์ไปเรื่อย ๆ จนล่าสุดก็ไปซื้อ EOS-60D อีกตัวหนึ่งเพื่อเอาไว้ถ่ายวีดีโอ

คิด ๆ ไปแล้วหากรวมเงินทั้งหมดสามารถซื้อ 5D MarkII ได้สบาย ๆ เหมือนกันแฮะ

แต่ถ้าหากผมเก็บเงินไว้เพื่อรอซื้อ 5D ทีเดียวป่านนี้คงจะยังไม่ได้ถ่ายรูปเป็นแน่...

สำหรับผมแล้วการเลือกซื้อกล้องคือ อันดับแรกลองดูตามเว็บต่าง ๆ ที่เขาโชว์รูปถ่ายกัน มีหลายเว็บครับ ดูว่ารูปที่เขาสวย ๆ ใช้กล้อง เลนส์ อะไร เช่นอันดับแรก ผมดูเว็บต่าง ๆ ก็เป็น Nikon D80 และช่วงนั้นฝั่ง Canon ก็กำลังออก EOS-400D มาใหม่ ๆ หลายคนคุยกันมากว่าเป็นกล้องที่ยอดเยี่ยม แต่ช่วงนั้นมีปัญหาเรื่องปัจจัยเกี่ยวข้องด้วย ในที่สุดก็คว้า 400D มาเป็นกล้องคู่กาย

ปัญหาไม่จบแค่ซื้อกล้องมาตัวเดียว เลนส์คิทมาตัวหนึ่งแล้ว แต่ปัญหาตามมาเรื่องของความสวยของภาพ ความเร็วในการถ่ายภาพ ความแม่นยำของการโฟกัส ในที่สุดก็เพิ่มเลนส์ ไป ๆ มา ๆ ก็เปลี่ยนกล้องเสียเลย

หลังจากที่กล้อง 400D ไม่สามารถตอบโจทย์ในการถ่ายภาพในสภาวะแสงน้อย เมื่อใช้ iso สูงเกิน 800 ภาพก็เละแล้ว ความแม่นยำในการโฟกัสไม่ทันใจจึงมองหาบอดี้ตัวใหม่ ขณะนั้นมี 550D ออกมาวางขาย และมีโอกาสได้ลองใช้ดูก็ถูกใจกับการถ่ายภาพพิธีการ ซึ่งอยู่ภายใต้สภาวะแสงน้อย ก่อนจะตัดสินใจซื้อบอดี้ตัวใหม่ ก็ได้ทดลอง 550D, 50D และ D90 ของ Nikon

แต่ตัวเองกลับชอบบอดี้ของ 50D ที่เหมาะมือ (ใหญ่กว่ามือเยอะแต่กลับชอบ) เสียงกดชัตเตอร์ทำให้รู้สึกว่าใช่สำหรับเรา ประกอบกับดัน iso สูง ๆ สู้ 550D ได้สบาย ๆ ถึงแม้ว่าจะออกก่อน ที่สำคัญที่สุดคือ โฟกัสแบบ Cross Type 9 จุด ทำให้การโฟกัสจุดอื่น ๆ ง่ายตามไปด้วย

ในที่สุดก็เลือกเอา Canon EOS-50D มาเป็นกล้องคู่ใจ ถ่ายมาประมาณปีกว่า ๆ ก็ถูกใจมาก ไม่มีครั้งไหนที่เสียใจกับการถ่ายภาพด้วย 50D

พอเมื่อกลางปีที่ผ่านมาได้มีโอกาสถ่ายวีดีโอด้วยกล้อง DSLR รุ่น 550D ก็รู้สึกถูกใจกับภาพที่ได้ ทำให้อยากจะหาบอดี้สำหรับถ่ายวีดีโอล้วน ๆ มาลองหัดถ่ายบ้าง ในที่สุดก็ไปถอยบอดี้ตัวใหม่

ไล่จาก D5100 จากค่าย Nikon (ไม่รู้เป็นอะไรเวลาจะซื้อบอดี้ใหม่มักจะคิดถึงค่ายนี้ก่อน แต่ลองแล้วกับไม่ขอบซะงั้น) ไล่ไปหา 550D 600D และสุดท้ายไปจบที่ 60D ขืนไล่ต่อไปมีหวังงบบานปลายเละเทะ

ภาพที่ได้จาก 60D และวีดีโอที่ถ่ายออกมาถูกใจมาก และถือว่าดีกว่า 550D มาก ๆ โดยเฉพาะเรื่องบอดี้ และการโฟกัส การถ่ายภาพในมุมต่าง ๆ ทำได้ดี อาจะเป็นเพราะติดใจกับ LCD เล็ก ๆ ที่อยู่บนตัวกล้องนั่นเอง...

ปัจจุบันนี้ยัง Happy กับ EOS-60D ทำให้ EOS-50D กลายเป็นกล้องสำรองใช้ถ่ายกับเลนส์ Tele เพื่อส่องไกลไปเสียอีก ตอนนี้เข้าทำนองรักพี่เสียดายน้อง เพราะจะทิ้ง 50D ก็เสียดายรูปทรง และความสามารถที่ยังรองรับการทำงานได้อีกมาก แต่ก็อย่างว่านั่นแหละความพอดีไม่มีในหมู่คน (โดยเฉพาะผู้เขียนที่ยังวนเวียนในสังสารวัฎ) เมื่อวานได้มีโอกาสไปเดินห้างหลังจากไปหมกตัวอยู่เชียงรายสิบกว่าวัน ก็เห็นบอดี้ 5D MarkII ก็รู้สึกว่าเหมือนจะเป็นของเราอย่างไรก็ไม่รู้... เฮ้อ! ชีวิต ถ้าไม่จบที่ฟูเฟรมสงสัยไม่หมดกิเลส...

สรุปแบบง่าย ๆ สำหรับมือใหม่หากจะซื้อกล้อง DSLR ให้เลือกดูรุ่นที่ชอบ แล้วพิมพ์สเปกออกมาดู แล้วเทียบกันว่ารุ่นไหนที่เราชอบ โดยแต่ละรุ่นมีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง ให้ดูข้อเสียด้วยอย่าให้ข้อดีมาบังตาเพียงอย่างเดียว แล้วดูไปขีด ๆ เขียน ๆ ไปสักพักแล้วก็จะรู้ว่ามีสเปครุ่นไหนอยู่ในใจ แล้วพักไว้สักวันหรือหลาย ๆ ชั่วโมง

จากนั้นให้กลับไปที่เว็บแล้วเลือกดูภาพที่ได้จากกล้องแต่ละรุ่น ลองดูรีวิวหลาย ๆ เว็บให้หาข้อเสียก่อน เพราะข้อดีนั้นแต่ละเว็บเขาลงอยู่แล้วเพื่อเอาใจสปอนเซอร์ ดูให้เยอะแล้วจะพบความเป็นจริง มีแนวคิดจากการซื้อที่มาจากน้าคนหนึ่งเขาบอกว่า "ก่อนที่จะซื้อที่ดินเขาจะเดินดูแล้วหาข้อบกพร่องของที่ให้ได้ คือติด้วยตัวเอง วันหลังจะได้ไม่เสียใจกับคำติของคนอื่น" การเลือกซื้อกล้องก็เหมือนกัน หากรู้จุดด้อยด้วยตัวเองแล้วไม่ต้องหวั่นไหวกับคำวิจารณ์จนคิดอยากจะเปลี่ยนใหม่ เพราะเปลี่ยนไปมันก็ไม่จบสักที...

30 ต.ค. 2554

ถ่ายรูปกันทำไม...

คิดอยู่นานเหมือนกันว่าจะเขียนบทความแต่ตอนนี้คิดอะไรไม่ค่อยออก แต่ก็มีสิ่งหนึ่งแว่บเข้ามาในสมองว่า "เราถ่ายรูปกันทำไม..." ลองคิดหาเหตุผลอยู่นานสองนาน ก็พอจะคาดเดาได้ว่าทำไมต้องถ่ายรูป...

  1. เหตุผลทางเศรษฐกิจ: ต้องการสร้างรายได้ หรือทำมาหากินด้วยรูปถ่าย เช่น ช่างภาพที่รับงาน
  2. เหตุผลทางความรู้สึก: ต้องการถ่ายรูปเพราะความชอบและหลงใหลในศิลปะการถ่ายภาพ เช่น คนทั่วไปชอบถ่ายรูปสวย ๆ เก็บไว้ดู
  3. เหตุผลทางการแสดงออก: ต้องการถ่ายรูปเพื่อบอกให้คนอื่นทราบว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เช่น นักท่องเที่ยว และกลุ่มสังคมออนไลน์
  4. เหตุผลทางความเป็นจริง: ต้องการถ่ายรูปเพื่อเป็นหลักฐานบ่งชี้อะไรสักอย่าง เช่น นักข่าว หรือการถ่ายภาพเพื่อใช้อ้างอิง
 แต่สำหรับผู้เขียนแล้วเริ่มจากการถ่ายรูปเพราะอยากหารายได้กับกล้องถ่ายภาพ... เป็นความคิดเริ่มต้น แต่จริง ๆ แล้วกลับไม่ใช่ เพราะปัจจุบันนี้มีกล้อง สี่-ห้า ตัวแล้วแต่ยังไม่เคยได้เงินจากการถ่ายภาพเลย คิด ๆ แล้วมีแต่เสียกับเสียอีกต่างหาก

คิดวนไปมาหลายรอบก็รู้ว่าแท้จริงแล้วเราชอบถ่ายรูปต่างหาก แต่เรามักจะหาเหตุผลเพื่อเข้าข้างตัวเองแล้วนำไปสู่การตัดสินใจในการซื้อกล้อง แต่หลัง ๆ นี่เหตุผลคือความชอบในการถ่ายภาพ และพิเคราะห์ลงไปลึก ๆ แล้วว่าเราชอบตรงไหน

ความชอบที่แตกย่อยไปคือ ชอบสีสัน ความมีเส้น แสง เงา และองค์ประกอบ สุดท้ายที่ชอบคือความเนียนของไฟล์ภาพ บางคนอาจจะชอบภาพคมชัด แต่สำหรับผู้เขียนชอบภาพเนียนเรียบ กลมกลืนไม่ดูแล้วบาดตา บาดใจ (บางคนก็ชอบคมบาดมือ) แต่ก็เลือกเลนส์ที่ถ่ายแล้วคมอยู่เป็นอันดับแรก

ดูแล้วก็ช่างขัดแย้งกันเหลือเกิน... รวม ๆ ก็นี่แหละครับเสน่ห์ของการถ่ายรูป

วันนี้ผมตอบโจทย์การถ่ายรูปของผมได้แล้ว... คุณล่ะ ถ่ายรูปเพื่ออะไร...

3 ต.ค. 2554

สวัสดีครับ...

ในที่สุดก็กลับมาหาเว็บบล็อกสาธารณะ หลังจากพยายามสร้างเว็บตนเองไว้มากมายแต่ไม่สำเร็จสักทีเพราะลืมจ่ายตังค์ใน ที่สุดก็ถูกต้ดไปจะซื้อคืนก็หลายตังค์ และอีกไม่นานก็ลืมจ่ายอีก รู้สึกว่ายุ่งยากเหลือเกินลำพังแค่หาข้อมูลมาลงเว็บก็ยากพออยู่แล้วไหนจะมา พะวงกับการจัดการอื่น ๆ อีก

เอาเป็นว่าต่อไปนี้จะพยายามอัพเดทในบล็อกนี้ก่อนแล้วค่อยขยับขยายต่อไป (แสดงว่ายังมองการสร้างเว็บเหมือนกัน... )

ตั้งใจ เอาไว้ว่าจะเขียนเว็บเกี่ยวกับการถ่ายภาพและการถ่ายวีดีโอด้วย DSLR จะเป็นอย่างไรก็ติดตามกันนะครับ เพราะเว็บนี้ยังต้องการกำลังใจและแรงยุ (บ้ายุเสียด้วยเรา)...