29 ธ.ค. 2554

การถ่ายภาพเบื้องต้น: การทำงานของกล้องถ่ายรูป

กล้องถ่ายรูปจะมีหลักการทำงานคล้าย ๆ กัน โดยจะรับแสงผ่านเลนส์ไปยังเซ็นเซอร์เพื่อบันทึกค่าแสงและแปลงมาเป็นภาพภายหลัง หากแสงจากธรรมชาติน้อยเกินไป ก็มีการชดเชยแสงหรือไม่ก็ใช้แสงประดิษฐ์เพื่อช่วย เช่น แฟลช เป็นต้น

ภายในกล้องก็จะมีอุปกรณ์ในการตรวจสอบวัดแสงกำหนดค่าต่าง ๆ มากม่าย รูปที่ลงนี้เป็นภาพโครงสร้างโดยรวม จะหาคำอธิบายภายหลังลองทำความเข้าใจไปก่อนนะครับ


โครงสร้างกล้องถ่ายรูป Canon


26 ธ.ค. 2554

การถ่ายภาพเบื้องต้น: รู้จัก DOF, Depth Of Field และ Hyperfocal distance

ผู้ที่เริ่มถ่ายภาพแรก ๆ มักจะตื่นเต้นกับการได้ภาพโดยไม่สนใจองค์ประกอบ การจัดภาพให้สวยงาม มักจะใช้ Subject Mode นับตั้งแต่ Full Auto ไปจนถึงการกำหนดรูปแบบการถ่ายด้วยกล้องไม่ว่าจะเป็น ถ่ายรูปวิว คน กลางคืน ภาพกีฬาเป็นต้น จากนั้นก็ขยับมาที่ Mode Semi-manual เริ่มจากโหมด P เห็นโหมด Auto ที่สามารถปรับค่าได้ ไปจนถึงปรับค่า Aperture, และความเร็วชัตเตอร์เอง สุดท้ายก็ขยับไปที่ Mode Manual ที่ปรับเองทุกอย่าง แม้กระทั่งระบบการโฟกัส

แรก ๆ ก็สนุกกับการได้ภาพแต่พอนาน ๆ เข้าก็เริ่มรู้สึกจะคล่องตัวและไม่พอใจกับรูปแบการถ่ายรูปเดิม ๆ เสียแล้ว ก็จะปรับโน่นแต่งนี่ และมองหาสิ่งดี ๆ โดยเฉพาะได้รับแรงจูงใจจากภาพที่คนอื่นถ่าย พอมาถ่ายวัตถุหรือบุคคลก็เริ่มจะมองหาสิ่งแปลกใหม่ โดยเฉพาะภาพบุคคลจะเน้นการละลายฉากหลังเพื่อให้รกจนแย่งความโดดเด่นไปจากตัวแบบ ก็เริ่มมองเรื่องเลนส์ สอบถามไปตามผู้มีประสบการณ์ก็บอกว่าให้ใช้เลนส์ทีมี f กว้าง ๆ จะทำให้ได้ภาพเบลอ ส่วนใหญ่ก็แนะนำให้ใช้ 50mm f/1.8

มือใหม่ทั้งหลายเมื่อกระโดดเข้ามาเล่นเลนส์ fixed ขนาด 50mm f/1.8 ก็เพื่อหวังจะได้ค่า f กว้าง ๆ เพื่อละลายฉากหลัง แต่เมื่อถ่ายแล้วก็มักจะไม่ค่อยสมหวังนักเพราะภาพขาดความคมชัด เรียกได้ว่าเบลอสมใจทั้งฉากหลังและวัตถุ

การถ่ายภาพเบื้องต้น: กฎ Sunny 16

ปกติแล้วกล้องรุ่นใหม่ ๆ จะมีอุปกรณ์วัดแสงในตัวและมีประสิทธิภาพมาก สามารถกำหนดวิธีการวัดหลาย ๆ แบบ แต่สำหรับตากล้องรุ่นเก่า ๆ (รุ่นใหม่ที่สนใจก็รู้) จะทราบกันดีว่าการคาดคะเนแสงจากธรรมชาติด้วยวิธีการง่าย ๆ โดยขนาดแสงปริมาณนี้จะใช้ค่า f เท่าใด เรียกว่า กฎ Sunny 16
sunny 16 rule. A simple exposure guideline stating that, in
bright daylight and with the aperture set at f/16, a correct exposure
can be made by setting the shutter speed to the nearest
inverse of the ISO (for example, at ISO 100 the shutter would
be set to 1/125 second).
โดยเริ่มจากการกำหนด ISO 100 และ ความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/100 แล้วจะได้ค่า f อยู่ที่ f/16 สำหรับถ่ายรูปกลางแจ้งที่มีแดดแรงจัด และถ้าสภาพแสงลดน้อยน้อยลงก็ปรับหน้าเลนส์ลดลงตามไปด้วย

สำหรับความเร็วชัตเตอร์ 1/100s ในกล้องรุ่นเก่า ๆ จะไม่มีก็จะใช้ 1/125s แทน ซึ่งผลไม่แตกต่างกันมากนัก

การถ่ายภาพเบื้องต้น: ความสัมพันธ์ระหว่าง Aperure และ ISO

คราวก่อนได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่าง Aperture และ Shutter Speed หรือการเปิดหน้าเลนส์กับความเร็วของม่านชัตเตอร์ไปเรียบร้อยแล้ว คราวนี้จะมากล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่าง Aperture และ ISO โดยกำหนดให้ความเร็วชัตเตอร์คงที่ที่ 1/250s ซึ่งเป็นความเร็วที่สามารถถือกล้องด้วยมือเปล่าโดยไม่ต้องกลัวภาพเบลอ (Motion Blure)

เราทราบกันแล้วว่าหน้าเลนส์ (Aperture) เมื่อเปิดกว้างมากทำให้แสงตกกระทบมากขึ้น และความเร็วชัตเตอร์ยิ่งมากก็เปิดให้แสงผ่านไปตกกระทบได้น้อยยิ่งขึ้น

ทีนีมาดูว่า ISO เกี่ยวข้องอย่างไร และทราบกันแล้วว่า ISO คือ ค่าความไวต่อแสงของเซ็นเซอร์ตามมาตรฐาน ISO โดยความไวปกติอยู่ที่ 100-200 และถ้ามากกว่านี้คือความไวต่อแสงสูง โดยหลักการแล้วค่า ISO ยิ่งสูงจะทำให้เซ็นเซอร์มีความไวต่อการรับแสงมากขึ้น นั่นหมายความว่าปริมาณแสงเท่าเดิมแต่เมื่อเพิ่ม ISO ขึ้นจะทำให้มีความสว่างเพิ่มมากขึ้น และยิ่งมากเท่าใดความสว่างก็มากขึ้นไปตามลำดับ

แต่ปัญหาที่ตามมาของ ISO ที่สูง ๆ คือ ทำให้เกิดสัญญานรบกวน (Noises) จะเกิดขึ้นในส่วนที่มืดของภาพหรือสีเข้มมากกว่าปกติ นอกจากนี้ยังทำให้คุณภาพของไฟล์ลดลง แต่ข้อดีคือ การกำหนด ISO สูง ๆ จะทำให้สามารถกำหนด f/stop ได้แคบลง หรือ Shutter Speed ได้เร็วมากขึ้น


การถ่ายภาพเบื้องต้น: ความสัมพันธ์ระหว่าง Aperture และ Shutter Speed

ตอนที่แล้วได้แนะนำเรื่อง Aperture และ Shutter Speed ไปแล้ว สำหรับตอนนี้จะกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่าง Aperture และ Shutter Speed ซึ่งมีผลต่อการรับแสงของกล้อง (Exposure)

Aperture รู้จักกันดีคือการเปิดหน้ากล้องมีหน่วยวัดเป็น f/stop หรือเรียกกันง่าย ๆ ว่า f... เช่น f2, f4 (จริง ๆ ต้องเขียนเป็น f/2, f/4)

ส่วน Shutter Speed ก็แปลตรงตัวว่า ความเร็วชัตเตอร์ หน่วยวัดเป็น 1/วินาที เช่น 1/125s, 1/250s แต่เรามักจะเรียกย่อ ๆ ว่า ความเร็วชัตเตอร์ 125, 250 โดยละตัวเลขเศษส่วนวินาทีไว้

การเปลี่ยนแปลงความเร็วชัตเตอร์กับหน้ากล้องย่อมส่งผลต่อการรับแสงของกล้องทางใดทางหนึ่ง คือ

เมื่อเปลี่ยนขนาดของ Aperture จะมองว่าแคบหรือกว้างเพื่อเปิดแสงเข้า โดยตัวเลขยิ่งมากจะยิ่งเปิดหน้าเลนส์แคบลงไปมาก (อย่าลืมว่าตัวเลขนั้นจะเป็นตัวหารพื้นที่วงกลมที่จะเปิดให้แสงผ่าน) ทำให้แสงตกกระทบยิ่งน้อยตามภาพที่ได้จะมืด แต่ถ้าเปิดกว้างมากโดยตัวเลขจะน้อยลงจะทำให้แสงตกกระทบยิ่งมากขึ้นทำให้ภาพสว่างมากขึ้น

ส่วนความเร็วชัตเตอร์จะเป็นตัวกำหนดเวลาให้แสงเข้าไปตกกระทบที่เซ็นเซอร์ โดยตัวเลขยิ่งมากจะทำให้ความไวชัตเตอร์ยิ่งมากตาม ส่งผลให้แสงตกกระทบน้อยลงทำให้ภาพมืด (ตัวเลขเป็นตัวหารเวลาใน 1 วินาที) และถ้าตัวเลขยิ่งน้อยจะทำให้ม่านชัตเตอร์เปิดและปิดช้าลง จะทำให้แสงตกกระทบได้มากขึ้นทำให้ภาพสว่าง

ภาพแสดงความสัมพันธ์ของหน้าเลนส์กับความเร็วชัตเตอร์จะเป็นอัตราส่วนผกผันกัน 1:1

จากรูปตัวอย่างจะเห็นว่าการเปิดหน้ากล้องกว้างจะทำให้ต้องใช้ความเร็วม่านชัตเตอร์ให้สูงเพื่อกำหนดให้แสงตกกระทบได้น้อยพอดี และถ้าลดหน้าเลนส์ให้แคบลง ต้องปรับเพิ่มเวลาให้มากขึ้น
ถ้าแสงเข้าได้มากก็ลดเวลารับแสงให้น้อยลง
ถ้าแสงเข้าได้น้อยก็เพิ่มเวลารับแสงให้มากขึ้น
แต่การเปิดให้แสงเข้ามากน้อยต้องสัมพันธ์กับความสามารถทางกายภาพของอุปกรณ์ด้วย เช่น ถ้าเราเปิดหน้ากล้องให้กว้างมาก ๆ แสงเข้ามาได้มาก แต่ก็มีผลกระทบคือ แสงจะฟุ้งกระจาย ทำให้ความคมชดลดน้อยลง และเกิดระยะชัดแคบลง (ชัดตื้น) และกลับกันถ้าต้องการให้แสงเข้ามากโดยเพิ่มระยะเวลาเปิดรับแสงนานเข้าจะทำให้ความไวชัตเตอร์ลดลงจนถึงระดับหนึ่งซึ่งต่ำมากจะทำให้ภาพขาดความคมชัด เพราะกล้องไม่นิ่งต้องใช้ขาตั้งกล้องช่วย

ดังนั้นการกำหนดขนาดหน้าเลนส์กับความเร็วชัตเตอร์จะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ด้วย เช่นต้องการควบคุมระยะชัดให้ลึกหรือตื้นก็กำหนดได้จากการเปิดหน้าเลนส์ หรือต้องการภาพให้นิ่งหรือแสดงการเคลื่อนไหวก็กำหนดความเร็วของชัตเตอร์ได้
การถ่ายรูปบุคคลมักจะนิยมใช้ f/stop กว้าง ๆ เพื่อควบคุมฉากหลังไม่ให้รบกวนตัวแบบ
การถ่ายรูปกีฬามักจะนิยมใช้ Shutter สูง ๆ เพื่อหยุดความเคลื่อนไหว
แต่อย่างไรก็ตามการถ่ายภาพไม่ได้มีรูปแบบตายตัวอาจจะขึ้นอยู่กับแนวคิดของผู้ถ่าย อาจจะใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำและใช้แฟลชเพื่อหยุดความเคลื่อนไหว เพื่อสื่อให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวของตัวแบบก็ทำได้

สุดท้ายผู้เขียนหวังว่าบทความตอนนี้จะทำให้มือใหม่สามารถเข้าใจหลักการการรับแสงได้บ้าง เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการถ่ายภาพในขั้นตอนต่อไป ถึงแม้จะไม่สามารถช่วยให้ผู้อ่านมีความสามารถระดับมืออาชีพได้แต่ก็สามารถเข้าใจหลักการและใช้กล้อง DSLR ได้อย่างคล่องแคล่ว... พบกันใหม่ในตอนหน้าครับ...

25 ธ.ค. 2554

การถ่ายภาพเบื้องต้น: รู้จัก ISO, Aperture และ Shutter

ครั้งก่อนได้กล่าวถึง การรับแสงของกล้องถ่ายรูป ไปแล้ว คราวนี้มาดูเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการรับแสงประกอบ ISO, Aperture และ Shutter ซึ่งเป็นส่วนประกอบในการกำหนดการรับแสงของกล้องถ่ายรูป


การกำหนดให้กล้องรับแสงมากน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 อย่างนี่แหละ และการปรับแต่ละอย่างจะมีผลต่อภาพและการถ่ายภาพ คือ สัญญานรบกวน (Noise), ความเคลื่อนไหว (Speed) และระยะชัด (Depth of Field)


ISO (International Standard Organization,ISO 5800:1987)

ในอดีตที่ยังใช้ฟิล์มถ่ายรูปมีการกำหนดมาตรฐานการผลิตฟิล์มเพื่อให้ใช้ในสภาพแสงต่าง ๆ เรียกว่า ISO (มาตรฐานอเมริกาใช้ ASA, เยอรมันใช้ DIN) เพื่อให้คุณภาพเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยกำหนดประเภทฟิล์มตามความไวแสงที่นิยมใช้กันคือ ISO 50, 100, 200, 400, 800 และ 1,600 โดยค่าจะเริ่มต้นค่าใดค่าหนึ่งแล้วเพิ่มขึ้นทีละเท่าตัว เรียกว่า 1 สต็อป

ปัจจุบันกล้องถ่ายรูปเป็นระบบดิจิตอลก็ยังคงมาตรฐานความไวต่อแสงของเซ็นเซอร์เหมือนกันเรียกว่า ISO โดยจะเห็นกันที่ 100, 200, 400 ไปจนถึง 2 แสนกว่า ๆ ก็มีในกล้องบางรุ่น (บางรุ่นสามารถลดต่าลงถึง 25)


ปกติแสงที่วิ่งผ่านเลนส์ไปหาเซ็นเซอร์รับภาพจะมีค่าแปรผันตามช่วงเวลา สถานที่ เมื่อ ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง แสงจะมีค่าเกือบคงที่ แต่เราสามารถเลือกใช้ ISO ได้ตามสภาพแสง คือ แสงมาก กลางแจ้ง ใช้ ISO 100 ถ้าในร่มแสงน้อยปรับไปที่ 400, 800 หรือ 1600 ก็แล้วแต่สภาพแสง

เมื่อปรับเซ็นเซอร์ให้มีความไวต่อแสงมากขึ้นทำให้ความสว่างเพิ่มมากขึ้น แต่มีสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ตามมาคือ สัญญานรบกวนที่เกิดขึ้นเมื่อเปลี่ยน ISO เรียกว่า Noise ซึ่งเกิดจากการทำงานของเซ็นเซอร์แล้วเกิดความร้อน และขนาดของสัญญานรบกวนจะถูกขยายให้ใหญ่ตามเมื่อเราเร่งให้เซ็นเซอร์ให้ไวต่อแสงมากขึ้น

ปกติกล้องทั่วไปเมื่อใช้ ISO เกิน 400 ก็จะมี Noise ให้เห็น หรือแม้แต่ใช้ ISO 100 หากถ่ายมืดกว่าความเป็นจริง (Under Exposure) ก็ทำให้เกิด Noise ได้โดยเฉพาะเมื่อนำมาปรับแสงให้สว่างขึ้น

ดังนั้นหากเป็นไปได้ควรถ่ายให้สว่างพอดีหรือมากกว่าปกติสักเล็กน้อยเพื่อหลีกเลี่ยง Noise


ภาพนี้ถ่ายด้วย ISO 3200 แต่วัดแสงให้พอดีแล้วปรับสว่างอีกนิดสังเกตมี Noise พอรับได้

ภาพนี้ถ่ายด้วย ISO 3200 เหมือนข้างบนแต่ Under Exposure 1 stop แล้วมาปรับแสงเพิ่มภายหลังมี Noise เยอะมาก

Aperture - รูรับแสง, f-stop

สิ่งที่กำหนดปริมาณแสงที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง รูปรับแสงจะเป็นตัวกำหนดให้แสงวิ่งผ่านไปกระทบเซ็นเซอร์มากน้อยตามกำหนด โดยทั่วไปอุปกรณ์ที่กำหนดปริมาณนี้จะอยู่ที่เลนส์เรียกว่า Diaphragm (ไดอะแฟรม) จะเป็นแผ่นโลหะบาง ๆ ซ้อนกันเหมือนกลีบดอกไม้ จะมี 5, 7, 9 บางรุ่นอาจจะมีถึง 22 กลีบ (Blade)

เลนส์รุ่นเก่าจะสามารถมองเห็นแผ่นไดอะแฟรมที่ใช้กำหนดปริมาณแสงเข้า ในรูปเป็นเลนส์ Pentax หน้ากล้องแคบที่สุดคือ f/22
การปรับแผ่นไดอะแฟรมให้เปิดมากน้อยเรียกว่าปรับค่า f-stop ซึ่งจะเขียนเป็นตัวเลขตามลำดับความกว้างไปถึงแคบ เช่น f/1.4, f/2, f/2.8, f/4, f/5.6, f/8, f/11, f/16, และ f/22 ซึ่งค่าเหล่านี้ได้มาจากสมการ

f/1 = \frac{f/1}{(\sqrt{2})^0} , f/1.4 = \frac{f/1}{(\sqrt{2})^1} ,f/2 =  \frac{f/1}{(\sqrt{2})^2} , f/2.8 =  \frac{f/1}{(\sqrt{2})^3} ...

คิดง่าย ๆ มาจากค่าของสแคว์รูท 2 ยกกำลังด้วยลำดับก็จะได้ค่า f ซึ่งจะไม่เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณเหมือน ISO

อีกสูตรหนึ่งสำหรับคำนวนค่า f คือ N = 2i/2 , i = 1, 2, 3,... จะได้ f/1.4, f/2, f/2.8,...

สำหรับปัจจุบันกล้องและเลนส์ได้พัฒนาไปมากสามารถกำหนดให้เปิดไดอะแฟรมได้ทีละ 1/2 และ 1/3 stop ทำให้สามารถเปิดรับแสงได้ละเอียดยิ่งขึ้น

แต่สำหรับผู้เขียนแล้วมักจะนิยมใช้ค่า f-stop แบบ 1/2 เพราะจะทำให้จำง่ายกับค่า ISO ที่ขึ้นทีละ 1 stop ตัวอย่างเช่น

ถ่ายรูปในร่มวัดแสงได้ ISO 400 หน้ากล้องเปิด f/2.8 และความเร็วชัตเตอร์ 1/250 ถ้าเปลี่ยน ISO เป็น 100 ลดลงมา 2 stop ทำให้ปริมาณแสงน้อยเกินไปต้องปรับเปลี่ยนการเปิดรับหน้ากล้องให้กว้างมากขึ้น หรือจะลดความเร็วชัตเตอร์ลงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองก็ยังได้ เช่น ปรับหน้าเลนส์ให้กว้างจาก f/2.8 มาเป็น 1.4 หรือ ปรับความเร็วจาก 1/250 มาเป็น 1/60 ก็ได้ (ค่อยมาทำความเข้าใจในเรื่องการวัดแสงอีกครั้งหนึ่ง)


ความเร็วชัตเตอร์ (Shutter Speed)

ในอดีตกล้องจะใช้กลไกผ้าสีดำเพื่อกั้นเพื่อควบคุมปริมาณแสงให้ตกกระทบที่ฟิล์มตามต้องการ (ดูจากรูปวีดีโอ) เมื่อกดลั่นชัตเตอร์แล้วกลไกจะเปิดตามระยะเวลาที่กำหนดและจะได้ยินเสียงดับฉับ ๆ มาจากกล้อง แต่ปัจจุบันกล้องดิจิตอลได้เปลี่ยนไปใช้ม่านอิเล็กทรอนิกส์ แต่ก็ยังมีเสียงอยู่เหมือนเดิมแต่ไม่ดังเท่ารุ่นเก่า


การเปิดรับแสงแต่ละครั้งจะมีค่า 1/n โดยตัวเลขที่กำหนดจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของค่าเดิม แต่ถ้าสังเกตดูจากค่าความเร็วแล้วจะไม่เป็นค่าเพิ่มขึ้นแบบเท่าตัวพอดี เช่น ความเร็วเริ่มจาก 1s เป็นต้นไปจะได้

1s, 1/2s, 1/4, 1/8s, 1/30s, 1/60s, 1/125s, 1/250s, 1/500s, 1/1000s, 1/2000s, 1/4000s และ 1/8000s

ค่าตัวเลขเหล่านี้หากปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยมักจะไม่มีผลมากนัก จากตัวเลขจะเห็นว่าความไวชัตเตอร์ยิ่งมากจะเปิดรับแสงได้น้อยยิ่ง ๆ ขึ้น หรือม่านชัตเตอร์ปิดเปิดเร็วขึ้น

การปิดเปิดช้าจะทำให้ภาพเกิดการเคลื่อนไหวเพราะเซ็นเซอร์มีเวลาในการรับแสงมากขึ้น เมื่อแบบขยับภาพที่บันทึกจะเหมือนมีการเคลื่อนไหว และถ้าม่านชัตเตอร์เปิดปิดในระยะเวลาสั้น ๆ ภาพที่บันทึกจะเป็นภาพไม่มีการเคลื่อนไหว (ถ่ายรถวิ่งให้หยุดนิ่งได้)

ระยะเวลานี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการถ่ายภาพ เช่น ต้องการถ่ายภาพเพื่อหยุดการเคลื่อนไหวต้องกำหนดความเร็วของชัตเตอร์ให้ใช้เวลาเปิดปิดน้อยที่สุดโดยตัวเลขตัวหารจะมีค่าสูง ๆ และต้องการถ่ายภาพน้ำตกให้สวยงามพริ้วไหวก็ใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ๆ

ปกติแล้วเราจะต้องระมัดระวังเรื่องความเร็วชัตเตอร์เพื่อป้องกันภาพไม่คมชัดอีกด้วยเมื่อต้องถ่ายภาพโดยไม่มีขาตั้งกล้อง ซึ่งจะทำให้กล้องเกิดการสั่นไหวแม้เพียงเล็กน้อยก็จะมีผลให้ภาพไม่ชัดหากใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ๆ

โดยเราสามารถกำหนดคร่าว ๆ ได้จากค่าความเร็วชัตเตอร์เป็น 1/ทางยาวของเลนส์ เช่น ใช้ 50mm จะต้องมีความเร็วชัตเตอร์ไม่ต่ำกว่า 1/60s (ค่าใกล้เคียง 1/50) แต่ถ้าเป็นกล้องตัวคูณก็ต้องคูณเพิ่มเข้าไปเช่น Nikon ต้องคูณ 1.5 จะได้ 1.5 x 50 = 75 ดังนั้นต้องกำหนดค่าความเร็วชัตเตอร์ไม่ต่ำกว่า 1/75 แต่ในทางปฏิบัติแล้วควรจะเป็น 1/125s เป็นต้นไปถึงจะไม่ผิดพลาด


จากข้อมูลทั้งหมดก็พอทราบรายละเอียดเกี่ยวกับกลไกในการรับแสงของกล้องแล้วบทความต่อไปจะมาลงรายละเอียดในเรื่องการวัดแสง และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง... ขอบคุณมากครับ...

21 ธ.ค. 2554

ถ่ายภาพเบื้องต้น: การรับแสงของกล้องถ่ายภาพ

การถ่ายภาพเป็นกิจกรรมที่ผ่อนคลายและสร้างความสุนทรีย์แก่ผู้ถ่ายเป็นอย่าง มาก แต่เชื่อหรือไม่หลาย ๆ คนกลับเครียดกับการถ่ายภาพ อย่างน้อยก็ตอนเริ่มต้น เพราะยังไม่รู้จะเริ่มอย่างไรดีโดยเฉพาะเมื่อเริ่มใช้ DSLR

แต่สำหรับบางคนอาจจะไม่เครียดอะไรมากนักเพราะการถ่ายภาพคือกิจกรรมหนึ่ง สำหรับบันทึกเหตุการณ์ ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยสนใจด้วยว่าจะใช้กล้องอะไร ผู้คนจำพวกนี้มักจะเน้นความสามารถของกล้องเป็นหลัก

สำหรับคนที่ชื่นชอบการถ่ายภาพแล้วมักจะมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของศิลปะ จึงมีหลายคนที่เสียค่าใช้จ่ายมากมายเพื่อได้ถ่ายภาพตามที่ตัวเองต้องการ แต่หลายคนก็มักจะพลาดหวัง ผิดหวังและล้มเลิกไปเสีย

สาเหตุก็เพราะถ่ายรูปแล้วไม่ได้ดังใจต้องการ หลายคนพลอยคิดไปว่าการถ่ายภาพจะได้ภาพดีต้องใช้อุปกรณ์ดี ๆ เท่านั้น ซึ่งก็ถูกเพียงส่วนหนึ่ง เพราะภาพสวย ๆ จะต้องประกอบด้วย อุปกรณ์+คน+สภาพแวดล้อม+องค์ประกอบ จะเห็นได้ว่ากล้องเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้นไม่ใช่ปัจจัยหลักเพียงอย่างเดียว

แล้วจะทำอย่างไรถึงจะถ่ายภาพสวย... สำหรับผู้เขียนแล้วคำนึงอยู่ตลอดเวลาว่า การถ่ายภาพคือการหยุดเวลา

ดังนั้นจึงควรศึกษาองค์ประกอบต่าง ๆ โดยเริ่มจากกล้องถ่ายรูปก่อนว่ามีหลักการทำงานอย่างไร

บทความนี้จะเริ่มต้นในเรื่องของแสงและการรับแสงของกล้องถ่ายภาพก่อน

แสงสำหรับการถ่ายภาพ
กล้องดิจิตอลกับกล้องฟิล์มมีหลักการทำงานเหมือนกัน ต่างกันตรงที่กล้องดิจิตอลใช้เซ็นเซอร์ในการรับแสงและจัดเก็บในรูปแบบ ดิจิตอลหรือตัวเลขค่าของแสงลงในไฟล์ภาพ ส่วนกล้องฟิล์มเก็บแสงไว้ในฟิล์ม ซึ่งเป็นแผ่นเซลลูลอยด์ไวต่อแสง หลังจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการหยุดหรือคงสภาพของฟิล์มไม่ให้เปลี่ยนแปลงต่อ แสงในภายหลัง (การล้างฟิล์ม)

การรับแสงในภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า Exposure และแสงในธรรมชาติ (จากดวงอาทิตย์) นั้นจะเป็นแสงสีขาว (RGB) เมื่อตกกระทบรงควัตถุจะให้สีสะท้อนแยกสีเป็น CMY (C = Cyan - ฟ้า, M = Magenta - ม่วงแดง และ Y = Yellow - เหลือง)
แสงชนิด RGB เมื่อผ่านปริซึมแล้วจะเกิดหักเหของแสง (หลักการเดียวกับการเกิดรุ้ง)


ดังนั้นแสงที่ใช้ในการถ่ายภาพคือเป็นแสงจากแหล่งกำเนิดหรือแสงจากธรรมชาติ และแสงประดิษฐ์ ที่มนุษย์สร้างเลียนแบบธรรมชาติ ซึ่งเป็นแสงจากแหล่งกำเนิดทั้งสิ้น จึงเป็นแสงแบบ RGB ซึ่งตามหลักการแล้วจะเป็นแสงขาวเมื่อรวมกันแล้ว

แสงที่มองเห็นจะเป็นช่วงแคบ ๆ คือ แดง เขียว น้ำเงิน เท่านั้นหรือเหลือก็เป็นอัลตราไวโอเล็ต และอินฟาเรด


แต่บางครั้งแสงก็ไม่เป็นไปตามที่คาดคิดตามช่วงเวลาแทนที่จะขาวแต่ก็เปลี่ยน เป็นสีอื่นเจอปนเพราะสภาพสิ่งแวดล้อม กล้องในปัจจุบันจึงมีการแก้ไขความผิดพลาดของแสงขาวมาด้วยเรียกว่า White Balance ภาษาไทยก็แปลตรงตัวว่า สมดุลแสงขาว เพื่อกำหนดให้กล้องปรับการรับแสงเสียใหม่ให้ใกล้เคียงกับแสงธรรมชาติมากที่ สุด


กล้องรับแสงอย่างไร?
แสงที่มาจากแหล่งกำเนิดเมื่อกระทบกับวัตถุแล้วจะก่อให้เกิดการสะท้อนกลับ ซึ่งวัตถุต่าง ๆ จะมีคุณสมบัติการสะท้อนแสงมากน้อยต่างกัน ทำให้สายตาเรามองเห็นสีต่าง ๆ ตามการดูดซับและสะท้อนแสง เช่นวัตถุสีแดง จะมีการดูดแสงสีเขียวและน้ำเงินไว้แต่จะสะท้อนกลับสีแดงออกมา ซึ่งคุณสมบัติการสะท้อนมากน้อยของวัตถุทำให้เกิดสีแดงตามระดับและเรียกการ ไล่สีตามระดับนี้ว่า โทนสีหรือวรรณะสี ภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า Color tone และเราอาจจะได้ยินสีโทนแดง โทนเขียว และในแต่ละสีก็จะมีความมืดหรือสว่างมากน้อยตามเฉดสี (Shade) หากผู้อ่านเข้าใจเรื่อง Color, Tone และ Shade แล้วจะเข้าใจการถ่ายภาพมากยิ่งขึ้น

ในกล้องดิจิตอลก็จะมีเซ็นเซอร์รับแสงตามสี RGB เป็นตารางมีจำนวนมากน้อยตามคุณภาพของเซ็นเซอร์ที่รู้จักกันในยุคนี้คือ Pixel ซึ่งเป็นจุดรับแสงเหมือนในรูป




การควบคุมปริมาณแสงให้ตกกระทบเซ็นเซอร์ให้พอดีภาพจึงจะออกมาสวยงาม คำว่าสวยงามในการถ่ายภาพคือ ปริมาณที่เหมาะสมไม่มากไม่น้อย แต่ถ้ารับแสงมากเกินไปก็จะเรียกว่า Over Exposure ทำให้ภาพสว่างมากจนบริเวณสีขาวเสียรายละเอียดไป และถ้ารับแสงน้อยเกินไปก็เรียกว่า Under Exposure ทำให้ภาพมืด และมืดจนส่วนสีดำเสียรายละเอียด

แสงจากการตกกระทบวัตถุจะวิ่งผ่านเลนส์เข้าไปในกล้อง (แสงสะท้อน) และตกกระทบเซนเซอร์รับแสงซึ่งแต่ละเซลล์จะมีความไวแสงแยกเป็นสี RGB ภาพจะสวยหรือไม่สวยก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเซ็นเซอร์ และคุณภาพของแสงที่ตกกระทบเลนส์



คุณภาพแสงจะดีมากน้อยนั้นขึ้นอยู่กับเลนส์ โดยเลนส์ก็มีหลากหลายและให้คุณภาพแตกต่างกันโดยราคาก็แตกต่างตามคุณภาพ

ชิ้นเลนส์จะเป็นตัวกำหนดแสงและความคลาดเคลื่อน การฟุ้งกระจายของแสง ซึ่งจะส่งผลต่อภาพทั้งสิ้น

การจะกำหนดปริมาณแสงได้เราต้องวัดแสงที่ตกกระทบมาเข้ากล้องก่อนเรียกว่า การวัดแสง (Light Metering) ซึ่งการวัดแสงนั้นจะขึ้นอยู่กับกล้องว่ามีความสามารถมากน้อยแค่ไหน (จะกล่าวถึงภายหลัง) สำหรับกล้องรุ่นใหม่ ๆ จะมีระบบวัดแสงอัติโนมัติ ซึ่งสามารถทำงานได้เป็นอย่างดี แต่บางสภาพแวดล้อมอาจจะทำให้กล้องวัดแสงผิดพลาดได้ แต่อย่างไรก็ตามกล้องเหล่านั้นจะสามารถบังคับให้กล้องรับแสงมากหรือน้อยกว่า ปกติที่วัดได้ เรียกว่า ชดเชยแสง (Exposure Compensation)

ตัวอย่างภาพทั้ง 3 แบบ

Under Exposure

Correct Exposure

Over Exposure
ทั้งสามภาพตัวอย่างให้สังเกตสีดำบริเวณหัววัวไม้ ภาพแรกจะดำเข้มจนมองไม่ออก ภาพกลางจะมองออกว่าว่ามีคราบมีรอยเล็กน้อย ส่วนภาพที่สามสีดำกลายเป็นเทาดำไปเสีย

ในบทความนี้ผู้อ่านคงทราบแล้วว่ากล้องรับแสงอย่างไร และการรับแสงไม่ถูกต้องเป็นอย่างไร คราวหน้าจะมากล่าวถึงการกำหนดปริมาณการรับแสงของกล้องถ่ายรูป
-----------------------
บทความต่อเนื่อง
  1. การถ่ายภาพเบื้องต้น: รู้จัก ISO, Aperture และ Shutter
  2. การถ่ายภาพเบื้องต้น: ความสัมพันธ์ระหว่าง Aperture และ Shutter Speed 
  3. การถ่ายภาพเบื้องต้น: กฎ Sunny 16 
  4. การถ่ายภาพเบื้องต้น: รู้จัก DOF, Depth Of Field และ Hyperfocal distance
  5. การถ่ายภาพเบื้องต้น: การทำงานของกล้องถ่ายรูป