18 ก.ย. 2556

Adobe Camera RAW 8.2 มีอะไรใหม่?

Adobe Camera RAW 8.2 อัพเดทล่าสุดมีดีอะไรที่ควรค่าแก่การดีใจบ้าง เป็นคำถามแรกที่เห็นลิงค์จากเพื่อนในเฟสบุค

ลองตามเข้าไปดูแล้วส่วนใหญ่เป็นการอัพเดทประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้นและรู้จักกล้องตัวใหม่มากยิ่งขึ้น และมีฟีเจอร์สำคัญ ๆ หลัก ๆ ที่ผู้เขียนคิดว่าเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนคือ

Histogram แบบ Interactive คือ ผู้ใช้สามารถคลิกที่ Histogram แล้วเลื่อนแถบซ้าย-ขวา เพื่อปรับค่า Highlight, Shadow, Exposer และ White ได้เลย ซึ่งผลลัพธ์ก็เหมือนคลิกเลื่อนที่แถบด้านล่าง คือ ๆ กันไม่มีอะไรแปลก แต่ก็ถูกใจคอ Visual Control คือ มองอย่างไรก็ควบคุมกันตรงนั้น ปรับกันตรงนั้น ไม่ต้องอ่านภาษาอังกฤษด้านล่าง

Interactive Histogram ผู้ใช้สามารถใช้เมาส์คลิกลากเพื่อปรับความมืดสว่างได้ง่ายๆ

Rectangle White Balance eyedropper tool, เป็นเครื่องมือกำหนดสมดุลแสงขาว เดิมทีใช้เครื่องมือจิ้มตามจุดต่าง ๆ แต่มีโอกาสพลาดไปโดนสีอื่น เวอร์ชันนี้ปรับปรุงให้สามารถลากกรอบสี่เหลี่ยมบนพื้นที่สีขาวแล้วปรับค่าเฉลี่ย ทำให้แม่นยำขึ้น อันนี้เห็นรูปธรรมหน่อยครับ

Rectangle White balance ผู้ใช้สามารถกำหนดขอบเขตพื้นทีสีขาวเพื่อความถูกต้องของ WB 

Save Preset, เป็นการกำหนด Preset การบันทึกภาพเมื่อเลือกคลิกปุ่ม Save Image ทำให้ไม่ต้องปรับใหม่ทุกครั้ง อันนี้ก็มีประโยชน์ขึ้นมาช่วยให้บันทึกรูปได้เร็วขึ้น

Preset ในการบันทึกไฟล์สามารถกำหนดเพื่อใช้ภายหลังได้

อื่น ๆ ที่เหลือก็ต้องลองดูว่า Improved จริงหรือไม่เพราะมันมองไม่ค่อยชัดเจนนัก เขาว่าปรับเราก็ว่าปรับตามแล้วกันครับ...


ฟีเจอร์ใหม่ที่เพิ่มเข้ามาใน Adobe Camera RAW 8.2


http://blogs.adobe.com/lightroomjournal/2013/09/camera-raw-8-2-and-dng-converter-8-2-now-available.html


13 ก.ค. 2556

Adobe Bridge + Camera RAW สร้างภาพธรรมดา ๆ ให้โดดเด่นได้

ปัจจุบันการถ่ายภาพเป็นเรื่องงานกล้องและโปรแกรมช่วยให้ผู้ถ่ายสามารถตกแต่งภาพได้ตามความชอบใจ ทำให้เราสามารถส่งภาพไปยังสังคมออนไลน์ได้อย่าทันท่วงที ถึงแม้ว่าอุปกรณ์สื่อสารหลายประเภทจะสามารถถ่ายภาพแต่งภาพและส่งภาพผ่านเครือข่าย 3G ได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็เป็นเพียงภาพเหตุการณ์ทั่วไป หากต้องการภาพที่โดดเด่นแล้วก็ต้องผ่านการจัดการจากโปรแกรมประมวลผลภาพหรือโปรแกรมตกแต่งภาพทั่วไป

โปรแกรมยอดนิยมในปัจจุบันนี้หนีไม่พ้นค่าย Adobe ทั้ง Photoshop, Light Room ต่างก็เป็นโปรแกรมที่ใช้กันแพร่หลาย โดยเฉพาะ Adobe Light Room นั้นน่าจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่างภาพมืออาชีพที่รับงานถ่ายภาพทั่วไปใช้มากที่สุดเพราะสามารถจัดการภาพได้ทีละหลายภาพ และสุดท้ายหากต้องการตกแต่งภาพขั้นสูงก็ส่งต่อไปยังโปรแกรม Photoshop กันอีกที

แต่สำหรับนักถ่ายภาพมือใหม่แล้วหากต้องใช้ Adobe Light-Room แล้วถือว่าเป็นงานใหญ่เพราะโปรแกรมนี้เป็นโปรแกรมที่ครอบจักรวาลทำได้หลากหลาย แต่ต้องแลกกับการสละเวลาศึกษา ทดลอง ใช้งานจนคล่องแล้วจะเกิดประสิทธิภาพ อีกทั้งโปรแกรมนี้ต้องการทรัพยากรเป็นจำนวนมาก

สำหรับผู้เขียนแล้วพยายามลองใช้งานหลังครั้งแล้วแต่ก็ยังไม่ค่อยประทับใจเพราะมีอะไรที่ซับซ้อนและเสียเวลาในการเรียนรู้มาก ก็ใช้งาน Photoshop+Adobe Camera RAW คอยปรับภาพทีละภาพไปเรื่อย ๆ ก็ใช้งานได้ดี แต่ภายหลังเมือรับงานถ่ายภาพกิจกรรมครั้งละหลายร้อยภาพชักเริ่มจะวุ่นวายกับการปรับ และพยายามที่จะกลับไปใช้ LR อีกครั้ง จนแล้วจนรอดก็ไม่สำเร็จสักที

แต่แล้วก็มาสะดุดตาสะดุดใจกับเครื่องมือที่หลาย ๆ คนไม่ค่อยสนใจนักเมื่อติดตั้ง Photoshop คือ Adobe Bridge หน้าที่หลัก ๆ ก็เป็นโปรแกรมจัดการไฟล์รูปภาพนั่นแหละ ตั้งแต่โหลดภาพ แสดงภาพ และเรียกใช้โปรแกรม Adobe Camera RAW และ Photoshop


การใช้งานครั้งแรก

การติดตั้งโปรแกรม Photoshop ครั้งแรกระบบจะลงโปรแกรม Adobe Bridge และ ACR มาให้เรียบร้อยเลย และเมื่อเรียกใช้โปรแกรม Photoshop Free trial ครั้งแรกให้คลิกเลือก File -> Browse in Bridge ก่อนแล้วคลิกเลือกไฟล์ RAW เพื่อเปิดครั้งแรกเสียก่อน แล้วหลังจากนั้นถึงจะสามารถคลิกเลือกเมนู Open in Camera RAW ได้ มิฉะนั้นระบบจะมีข้อความเตือนตลอด ทำให้การเปิดทำได้แค่ดับเบิลคลิกที่รูปภาพแทน

ควรเปิดใช้ Bridge หลังจากติดตั้งโปรแกรมเสร็จก่อนที่จะทำอย่างอื่น


การเลือกเปิดทีละหลายรูปภาพ

คนที่ใช้ Adobe Light-Room จะชอบวิธีการปรับเปลี่ยนไฟล์ครั้งละหลาย ๆ ภาพ โดยภาพจะเปลี่ยนไปพร้อม ๆ กันไม่ต้องนั่งปรับเปลี่ยนทีละไฟล์ บางโปรแกรมเรียกการทำงานแบบ Batch ทำให้สะดวกต่อการปรับแสง สี คุณภาพของไฟล์ภาพไปพร้อม ๆ กัน แต่มีข้อแม้ว่า ภาพนั้นควรจะมีความใกล้เคียงกันบ้าง เช่นถ่ายในสภาพแสง สี มืด สว่าง ใกล้เคียงกัน ไม่งั้นปรับลำบาก

เมื่อคลิกเลือกไฟล์ RAW ที่ต้องการเรียบร้อยแล้ว (Ctrl + คลิก) แล้วคลิกขวาที่รูปแล้วเลือก Open in Camera RAW

โปรแกรมจะเปิดไฟล์ทั้งหมดใน Adobe Camera RAW เราสามารถปรับรูปที่รูปเดียว แล้วเลือก Select All และ Synchronize

ตัวอย่างการปรับภาพ
บทความนี้จะแสดงตัวอย่างการใช้งาน Adobe Camera RAW ในการรีทัชภาพ โดยไม่ต้องใช้ Photoshop ส่วนรายละเอียดจะค่อยลงลึกไปทีละส่วน เพราะมีข้อปลีกย่อยเยอะเหมือนกัน แต่ไม่มากเท่า Light Room

ใช้ Brush ระบายฉากหลังเพื่อปรับลดความสว่าง รายละเอียดอื่น ๆ ทำให้ตัวแบบโดดเด่นขึ้น


ใช้ Stamp เพื่อลบส่วนเกินออกจากภาพ สามารถเลือกว่าจะเป็น Heal หรือ Clone

ภาพก่อนทำและหลังปรับแต่งด้วย Adobe Camera RAW

จากตัวอย่างด้านบนจะเห็นว่าเราสามารถทำภาพธรรมดา ๆ ให้โดดเด่นขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัย Photoshop ทำให้เราสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว

และสุดท้ายผู้เขียนว่าแนวคิด วิธีการในบทความนี้จะจุดประกายในการทำงานด้านการถ่ายภาพของผู้อ่าน และสามารถพัฒนาต่อยอดยิ่ง ๆ ขึ้นไป สงสัย หรือใช้งานแล้วดีไม่ดีอย่างไรอย่าลืมแวะมาอัพเดท ติชม แนะนำกันบ้างนะครับ... สวัสดีครับ

17 ก.พ. 2556

C-PL เอาไว้ทำอะไร

ทำอย่างไรจะให้ได้ท้องฟ้าสีสวย ๆ? ใช้ C-PL สิรับรองเข้ม
ทำอย่างไรให้ถ่ายภาพผ่านกระจกไม่มีแสงสะท้อน? ใช้ C-PL สิรับรองทะลุ
ใช้ C-PL แล้วทำไมท้องฟ้ายังไม่เข้มเป็นสีน้ำเงิน? ก็น่าจะไม่รู้จัก C-PL ดีมั๊ง :D

คำถามคำตอบข้างบนนี้มีอยู่ตามเว็บไซต์ต่าง ๆ และกลายเป็นว่า C-PL คือ ยาสาระพัดนึกสำหรับการถ่ายรูป บางรายถึงกับเอามาใส่แทนฟิลเตอร์ป้องกันชิ้นเลนส์ไปเลยทีเดียว

C-PL, Circular Polarized เป็นรูปแบบการตัดแสงที่กระเจิงในวัตถุอื่น ๆ และสะท้อนที่ตัวแบบเข้ามายังกล้องถ่ายรูป แต่ไม่ใช่ว่าจะตัดได้สาระพัด ต้องดูทิศทางของแสงที่ส่องไปยังตัวแบบด้วย นั่นคือ แสงและตัวแบบจะทำมุมกัน 90 องศา

1 ก.พ. 2556

f, s และ iso ในการใช้แฟลชเกี่ยวกันอย่างไร

การถ่ายภาพแต่ละครั้งสิ่งที่ควรอยู่ในหัวสมอง ต้องคิดอยู่เสมอคือ คุณภาพของแสง ทิศทางของแสง ความเปรียบต่างของแสง ความเข้มของแสง เหตุการณ์และอุณหภูมิสี สิ่งเหล่านี้ถึงแม้จะไม่สามารถควบคุมให้ได้ดั่งใจอยู่เสมอ แต่ก็ควรจะมีให้มากที่สุด และแสงที่ดีที่สุดสำหรับถ่ายภาพคือแสงธรรมชาติ แต่ใช่ว่าจะให้เราได้ทุกวันเวลา เพราะธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลงทุกช่วงเวลา และหากไม่มีแสงธรรมชาติก็ต้องใช้แสงประดิษฐ์นั่นคือ ไฟสำหรับถ่ายรูปต่าง ๆ ที่ใช้กันบ่อยและมีได้ง่ายคือ แฟลช

หลายคนที่ถ่ายรูปมานาน ๆ ถ้าไม่ใช่ประเภทรับถ่ายอีเวนต์หรืองานพิธีต่าง ๆ จะรู้สึกเหมือนกันคือแทบไม่ได้ใช้แฟลชเอาเสียเลย โดยเฉพาะกล้องรุ่นใหม่ ๆ นี่สามารถใช้ ISO ได้สูง ๆ ทำให้ภาพไม่สั่นไหว แต่แลกมาด้วย Noise หรือความสดใสของสีลดลง แต่ใช่ว่าจะเป็นอุปสรรคเพราะโปรแกรมตกแต่งรูปสมัยนี้ทำได้ดีกว่าสมัยก่อนมากไม่รู้กี่เท่า

แล้วเมื่อต้องใช้แฟลชก็สะเปะสะปะ ถ่ายทีกว่าจะปรับให้ลงตัวได้ก็เล่นเอาเสียเวลาไปนานแสนนาน (ออกตัวก่อนว่าไม่ใช่มืออาชีพด้านการใช้แฟลช) บทความนี้จึงขอนำเอาเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับการปรับแฟลชเพื่อถ่ายภาพ

องค์ประกอบสำคัญสำหรับการถ่ายภาพด้วยแฟลชคือ การเปิดหน้าเลนส์ (f) การปรับความเร็วชัตเตอร์ (s) และความไวแสง (ISO)

องค์ประกอบ 3 อย่างสัมพันธ์กันในทิศทางตรงข้ามและทิศทางเดียวกัน (อ่านเพิ่มเติมใน รู้จัก ISO Aperture และ SpeedShutter )