17 ก.พ. 2556

C-PL เอาไว้ทำอะไร

ทำอย่างไรจะให้ได้ท้องฟ้าสีสวย ๆ? ใช้ C-PL สิรับรองเข้ม
ทำอย่างไรให้ถ่ายภาพผ่านกระจกไม่มีแสงสะท้อน? ใช้ C-PL สิรับรองทะลุ
ใช้ C-PL แล้วทำไมท้องฟ้ายังไม่เข้มเป็นสีน้ำเงิน? ก็น่าจะไม่รู้จัก C-PL ดีมั๊ง :D

คำถามคำตอบข้างบนนี้มีอยู่ตามเว็บไซต์ต่าง ๆ และกลายเป็นว่า C-PL คือ ยาสาระพัดนึกสำหรับการถ่ายรูป บางรายถึงกับเอามาใส่แทนฟิลเตอร์ป้องกันชิ้นเลนส์ไปเลยทีเดียว

C-PL, Circular Polarized เป็นรูปแบบการตัดแสงที่กระเจิงในวัตถุอื่น ๆ และสะท้อนที่ตัวแบบเข้ามายังกล้องถ่ายรูป แต่ไม่ใช่ว่าจะตัดได้สาระพัด ต้องดูทิศทางของแสงที่ส่องไปยังตัวแบบด้วย นั่นคือ แสงและตัวแบบจะทำมุมกัน 90 องศา


วิธีสังเกตง่าย ๆ คือ เอานิ้วชี้ชี้ไปที่ดวงอาทิตย์ และทิศที่หัวแม่มือตั้งขึ้นนั่นแหละคือมุม Polarized ปกติตามธรรมชาติก็เป็นแบบนี้อยู่แล้ว เช่น ฤดูฝนเวลาสาย ๆ หรือ บ่าย ๆ จะสังเกตว่าอีกฝั่งหนึ่งท้องฟ้าจะเป็นสีน้ำเงินเข้ม และมีปุยเมฆสีขาว เพราะแสงในธรรมชาติอยู่ในจังหวะที่พอดีทำให้เราเห็นท้องฟ้าสีน้ำเงินโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วย

พอผ่านฤดูฝนไปแล้ว ย่างเข้าฤดูหนาวท้องฟ้าที่เป็นสีน้ำเงินจะเริ่มเปลี่ยนสีไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงหน้าร้อนมีนาคม-เมษายน ท้องฟ้าจะหม่น ไม่เป็นสีน้ำเงินอีก

ที่เป็นเช่นนี้เพราะมลพิษทางอากาศทำให้เกิดฝุ่นละออง ปกคลุมทั่วท้องฟ้าทำให้เกิดการกระเจิงของแสง และทิศทางของแสงจึงไม่เป็นทิศทางตรงเพียงอย่างเดียว

พอย่างเข้าฤดูฝนมีฝนตกมาทำให้ฝุ่นละอองหายไป เราจะสังเกตว่าฟ้าหลังฝนจะสดในสวยงามอยู่เสมอ เพราะฝุ่นละอองในอากาศมันหายไป และจะวนเวียนอยู่อย่างนี้ตลอดทั้งปี

แล้วฟิลเตอร์ C-PL ล่ะเอาไว้ทำอะไร?

เอาไว้ตัดแสงที่กระเจิงไร้ทิศทางตามที่อธิบายข้างต้นเพียงอย่างเดียว เพื่อใช้ถ่ายภาพวัตถุที่มีเงาสะท้อน เช่น ห้องกระจก พื้นน้ำ รถยนต์ และอื่น ๆ

แต่ผลพลอยได้เมื่อเอาไปใช้กับท้องที่เป็นสีน้ำเงินอยู่บ้างแล้วเป็นสีน้ำเงินเข้มขึ้น นักถ่ายภาพบางคนไม่เข้าใจพอเห็นท้องฟ้าสีน้ำเงินอยู่แล้วก็ใช้ฟิลเตอร์เพิ่มเข้าไปอีก ผลที่ได้ท้องฟ้ากลายเป็นสีคล้ำ ๆ ออกดำ ๆ ไปเสียก็มี

และหลายคนจะลืมสังเกตไปว่าหากใช้ฟิลเตอร์ C-PL ถ่ายรูปท้องฟ้าให้เป็นสีน้ำเงินแล้วจะส่งผลให้วัตถุอื่นมืดลงไปทำให้ความสวยงามของภาพลดลงเป็นอย่างมาก

ผลกระทบอีกอย่างหนึ่งคือ การสวม C-PL ที่หน้าเลนส์ทำให้เลนส์ตัวนั้นเสียแสงไป 2 สต็อป เช่น ปกติได้ความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/500s เมื่อสวม C-PL แล้วจะทำให้ความเร็วลดลงเหลือ 1/125s ก็ต้องระมัดระวังเรื่องนี้ด้วย

และหลายครั้งที่ถ่ายรูปธรรมชาติดอกไม้ ใบหญ้า แล้วเจอปัญหา แสงสะท้อนตามใบไม้ต่าง ๆ จึงต้องแก้ไขปัญหาด้วยการใช้ C-PL นี่แหละตัดแสง โดยหมุนที่ฟิลเตอร์จนกว่าแสงสะท้อนที่วัตถุจะหายไป และตัวอย่างรูปสองรูปนี้ดูแล้วธรรมดามาก แทบแยกกันไม่ออกเลย เป็นรูปดั้งเดิมแท้ ๆ ไม่มีการปรับแต่งอะไรทั้งสิ้น แล้วสังเกตออกหรือไม่ว่าภาพไหนใช้ C-PL และภาพไหนไม่ใช้...



ลองพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่าภาพที่สองจะมีเงาสะท้อนตามแบบคือ รูปปั้นมากกว่า สังเกตที่ หน้าผากเด็กคนที่ยกน้ำดื่มและกลางศีรษะของเด็กที่อยู่ตรงกลางจะเห็นอีกเช่นกัน

แค่นี้แหละผลประโยชน์ของ C-PL ใช้สำหรับจำเป็นเวลาถ่ายภาพที่แสงกระเจิงไร้ทิศทาง และภาพนี้ถ่ายในทิศทางทางย้อนดวงอาทิตย์ ดูจากเงาในภาพเป็นเกณฑ์

หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้แนวคิดเกี่ยวกับ C-PL ของหลาย ๆ คนให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น เดี๋ยวจะเข้าใจผิดคิดว่าเอาไว้ปรับท้องฟ้าเป็นสีน้ำเงิน ถ้าต้องการอย่างนั้นใช้ Photoshop ครับ สวยงามทุกสภาพแสง ท้องฟ้าสีขาวก็หาท้องฟ้าเข้ม ๆ มาใส่แทนได้ครับ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น