1 ต.ค. 2555

ทำไมถึงไม่แนะนำให้ใช้ Mode Av ในกล้องแคนนอนสำหรับมือใหม่

หลัง ๆ นี่ไม่ค่อยอยากอ่านหนังสือแนะนำพื้นฐานการถ่ายสักเท่าใดนัก ไม่ว่าจะทั้งในไทยและต่างประเทศ เพราะแต่ละเล่มก็เน้นเรื่องการควบคุมกล้องเป็นสเต็ปตามคู่มือในเอกสารที่มากับกล้อง และที่สำคัญแต่ไม่ให้ความสำคัญคือ เรื่องการวัดแสง และโหมดต่าง ๆ กับการวัดแสง

หนังสือหลายเล่มแนะนำมือใหม่ให้ถ่ายด้วย โหมด Av แต่สำหรับผมแล้วไม่แนะนำให้ใช้ครับ...
เพราะหลายครั้งที่ผมเจอคำถามจากพี่น้องมือใหม่หลายคนว่าถ่ายด้วยโหมด Av ด้วยกล้อง Canon ทำไมถึงได้ภาพไม่ค่อยตรง บางครั้งก็ขาวโพลน บางครั้งก็มืด ต้องปรับไปโหมด P ถึงจะได้ภาพ และบางครั้งก็มีปัญหาถ่ายคนแล้วหน้ามืด ก็ต้องมาอธิบายขั้นตอน พื้นฐานกันใหม่





29 ก.ย. 2555

ลองทำหนังสือจาก iPad

ตัวอย่างหนังสือที่จะสร้างจาก iPad และลองเขียนบล็อกผ่าน iPad ซึ่งยังไม่คล่องเลยไม่รู้ว่าจะปรับเปลี่ยนอย่างไร ขอเปิดดูหนังสือสักพักแล้วกันครับ




20 มิ.ย. 2555

Photoshop: วิธีแยกฉากหลังง่าย ๆ ด้วย Quick Selection Tool

ตามธรรมเนียมต้องออกตัวก่อนว่าไม่ได้เป็นเซียนโฟโต้ช็อฟ ยังเป็นมือใหม่ซิง ๆ เพิ่งหัดเดินเตาะแตะครับ แต่ก็นำเอาประสบการณ์วิธีการมาเล่าสู่กันฟัง ให้มือใหม่สามารถนำไปเป็นแนวทางได้ ส่วนมือเก๋า ทั้งหลายหากเห็นว่าไม่ถูกต้องก็อยากให้เพิ่มเติมนะครับ จะได้มีเนื้อหาดี ๆ กันครับ

วิธีการนี้เกิดจากการไปถ่ายสตูดิโอเมื่อวันหยุดที่ผ่านมา (17 มิ.ย.) แล้วต้องนำมาตัดต่อ เติมจินตนาการลงไป ซึ่งมันยากกว่าถ่ายรูปทั่วไป ลำพังแค่ถ่ายรูปก็ยากแล้ว แต่มาตัดโน่นต่อนี่ยิ่งยากไปกันใหญ่ แต่ก็สนุกดีครับ ลองดูวิธีการบ้าน ๆ ของผู้เขียนบ้างนะครับ

1. เริ่มจากเปิดภาพด้วย CameraRAW แนะนำให้ใช้ไฟล์ RAW เพราะมันปรับได้เยอะมาก, แล้วปรับให้สว่าง ๆ จนเห็นรายละเอียดขอบที่จะตัดให้ชัด ๆ ไม่ต้องสนใจว่ารายละเอียดส่วนอื่นจะหาย Noise จะโผล่อะไร เพราะเดี๋ยวจะมาแก้ไขภายหลัง

ภาพนี้เปิดไฟล์ RAW ด้วย CameraRAW เมื่อปรับแล้วให้กดปุ่ม Shift ค้างไว้ก่อน ปุ่ม Open Image จะกลายเป็น Open Object

31 พ.ค. 2555

ความรู้สึกเกี่ยวกับการถ่ายภาพ...

มีคนเคยถามว่าถ่ายรูปนานหรือยัง ถ้านับตั้งแต่จับกล้องมาใส่ฟิล์มแล้วกดถ่ายเพื่อเผาผลาญเงินในกระเป๋าก็เริ่มมานานแล้ว ครั้งแรกถ่ายรูปก็ปี 2528 ด้วยกล้อง Agfa ฟิล์ม 110 ถ่ายประมาณ 7-8 ม้วน ก็ต้องเลิก เพราะค่าใช้จ่ายสูงมาก ซื้อกล้องมาราคา 250 บาท แต่ค่าฟิล์ม 70 บาท ค่าล้าง 30 ค่าอัดใบละ 5 บาท ม้วนหนึ่งได้ 24-25 ภาพ จะล้างอัดภาพทีก็เข้าในเมืองเป็นวันส่งอัดตอนเช้าเย็น ๆ 3-4 โมงเย็นก็ไปรอรับได้แล้ว ค่าใช้จ่ายทั้งหมดก็ 3-400 บาท ถ่ายไปสักพักก็ต้องเลิกล้มเพราะหมดเงินไปหลายพันบาท ก็เป็นประสบการณ์ทำให้เด็กรุ่นอายุ 12-13 ได้มีโอกาสสัมผัสกับกล้อง และอยากถ่ายรูปอยู่ตลอดก็คิดเสมอจะหาโอกาสถ่ายรูปแบบจริงจังบ้าง


29 มี.ค. 2555

ย้อมสีเสื้อ...

ช่วงนี้ไม่ได้เข้ามาเขียนบล็อกเลยเพราะมัวแต่ฝึกถ่าย Porttrait และอยู่ในกลุ่มถ่ายรูป... แต่ก็ได้ความรู้มาเยอะครับ ได้ฝึกได้คุยกันกับหลาย ๆ คน ก็ฝากไว้สำหรับมือใหม่ว่าอยากถ่ายรูปเก่งหรือพัฒนาฝีมือต้องรวมกลุ่มกันและออกทริปบ่อย ๆ

รอบนี้ก็ได้แนวคิดวิธีการฝึกย้อมสีเสื้อโดยใช้โปรแกรม GIMP ซึ่งยังเน้นหนักที่โปรแกรมนี้ก่อน เพราะยังไม่อยากใช้ Photoshop แบบผิดกฎหมาย ก็พยายามเทียบเคียงและปรับใช้ ได้บ้างไม่ได้บ้าง ยากหน่อยก็ไม่เป็นไร

การย้อมสีเสื้อหรืออื่น ๆ ก็ทำได้แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องไม่ดำสนิทซึ่งจะไม่สามารถย้อมได้ง่าย (แต่อาจจะทำได้ยาก)

เริ่มจากเปิดภาพที่เราต้องการด้วยโปรแกรม GIMP และสร้างเลเยอร์สำเนาอีก 1 รายการเหมือนในรูป

6 มี.ค. 2555

ลองสร้างภาพสีจากภาพขาวดำ

ภาพนี้ผู้เขียนเห็นตั้งแต่ศึกษาเรื่องสี RGB แรก ๆ นานหลายเดือนก่อนแล้ว แต่ไม่มีเวลาอธิบายเลยค้างไว้นาน ตอนนี้กลับมาอธิบายวิธีการและหลักการก่อนแล้วกันนะครับ

ก่อนอื่นให้ไปดาวน์โหลดภาพจาก วิกิพิเดีย ได้ที่ http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/e/e3/Rgb-compose-Alim_Khan.jpg และขอบคุณน้าไปรท์ที่เป็นคนชี้แนะเรื่องเรียงสีและวิธีรวมเลเยอร์อีกครั้งหนึ่งนะครับ



14 ก.พ. 2555

ถ่ายรูปใช้แฟลชต้องทำอย่างไร

คำถามแรกสำหรับคนที่ซื้อแฟลชนอกมาใช้มักจะสับสนว่าจะถ่ายอย่างไรวัดแสงอย่างไร เป็นคำถามที่ไม่ได้รับคำตอบหรือได้คำตอบที่หลากหลายมาก บทความนี้จึงเป็นการนำเอาประสบการณ์มาร่วมแสดงเผื่อมือใหม่ทั้งหลายจะเข้าใจ

การถ่ายด้วยแฟลชนอกจะมีสองอย่างคือ ยิงแฟลชตรง กับ ยิงแฟลชสะท้อน (Bounce) ความแตกต่างทั้งสองแบบก็ไม่มากสักเท่าไรหากเข้าใจหลักการของทำงานของแฟลชเสียก่อน

TTL คืออะไร?
TTL (Through The Lens) คือการวัดแสงเพื่อควบคุมปริมาณแสงแฟลชผ่านทางเลนส์ ปัจจุบันของ Canon เป็น E-TTL-II (Evaluate Through The Lens) โดยหลักการทำงานของแฟลชจะมีการตรวจสอบความเร็วชัตเตอร์ ISO และการเปิดหน้าเลนส์แล้วตรวจสอบว่าจะกำหนดให้แฟลชทำงานเพื่อชดเชยแสงที่ปรับไว้ขนาดไหน โดยการทำงานจะมีการคำนวนคร่าว ๆ ก่อนเมื่อเรากดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่ง แต่ขณะที่กดถ่ายรูปและแฟลชทำงานก็จะมีการวัดแสงและชดเชยในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เรียกได้ว่าในช่วงเสี้ยวหนึ่งของนาทีเลยก็ว่าได้ ส่วนรายละเอียดลึก ๆ จะค้นหาและนำมากล่าวถึงทีหลัง

3 ก.พ. 2555

วัดแสงกันตรงไหน... อย่างไร

(บทความยังไม่สมบูรณ์ขาดข้อมูลเพิ่มเติมและรูปภาพประกอบจะมาเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง)
แรก ๆ ใช้กล้อง FM2N ตอนไปซื้อเจ้าของร้านบอกว่า น้องเล็งไปที่แบบที่เราจะถ่าย กดชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่ง แล้วก็ปรับค่า f และ s ให้แสงในช่องมันตรงขีด 0 แล้วก็กดถ่ายได้เลย ถ้าใช้แฟลชก็ตั้งความเร็วไปที่ 1/125s เปิด f/5.6 ใช้ฟิล์ม ISO 400 ถ่ายได้เลย...

ม้วนแรกใช้ ISO 400 ก่อนประเดิมเพราะกลัวว่าถ่ายในที่ร่มแล้วแสงจะไม่พอ ถ่ายไปอยากให้หมดเร็ว ๆ จะได้ไปอัดรูป คิดว่า 36 ภาพเบลอ ๆ มืด ๆ สว่าง ๆ ต้องมาแน่ ๆ ขอให้ได้ภาพดี ๆ สัก 20 ก็โอเคแล้ว

อัดภาพออกมาได้ 37 ภาพใช้ได้หมด โห... ดีใจสุด ๆ นี่ม้วนแรก ถ่าย SLR ครั้งแรก กล้องมือสองไม่รู้ว่าจะเสียหรือเปล่า... กำลังใจมาเต็มเปี่ยม

ต่อมาก็ซื้อหนังสือเรื่องการถ่ายภาพ ใคร ๆ ก็คุยกันเรื่องวัดแสง ๆ ๆ ๆ ใช้ระบบเฉพาะจุด บ้างเฉลี่ยหนักกลาง เฉลี่ยทั้งภาพ เมทริกซ์ Patient บ้าง ไม่ค่อยเข้าใจก็เก็บเล็กผสมน้อยไป แต่กล้องของเรามีเฉลี่ยหนักกลางเพียงอย่างเดียว การวัดแสงตอนนั้นก็ไม่มาก ให้ตรงเลข 0 ให้มากที่สุด + บ้าง - บ้าง ก็ปน ๆ กันไป แต่อัดภาพดีเกือบหมด (ที่ไหนได้ร้านเพิ่มแสงลดแสงให้ตอนอัด)

พอมาใช้ Digital SLRs แล้วก็เริ่มสนุกกับการวัดแสง เพราะใช้ EOS-400D ก็มีระบบวัดแสงให้ตั้ง 3 แบบ ก็มากกว่า FM2N ก็แล้วกัน แต่พอมาเจอ 50D การวัดแสงดีกว่ามากกว่า 400D ก็ยิ่งสนุกไปกันใหญ่

ใช้กล้องดิจิตอลครั้งแรกถ่ายจนกล้อง 400D พังเข้าโรงซ่อมไปสองสามรอบ การถ่ายภาพยังไม่มีการพิถีพิถันอะไรมากนัก วัดแสงหยาบ ๆ มากน้อยเดี๋ยวปรับในคอมฯ อีกที องค์ประกอบพอได้ ถ้าไม่ดีก็ตัดในคอมฯ อีกที กลายเป็นว่าถ่ายรูปแล้วถ้าไม่มีคอมพิวเตอร์มันใช้ไม่ได้เลย ไม่มีสักภาพเลยที่ถ่ายแล้วไปส่งอัดภาพทันทีได้ ทำให้เริ่มคิดว่ากล้องมันดีขึ้นแต่เราแย่ลงหรือเปล่า

ในที่สุดก็เริ่มมาศึกษาอย่างจริงจังเรื่อง สี แสง-เงา และองค์ประกอบของภาพ โดยเริ่มจากการจัดองค์ประกอบและการวัดแสงก่อนอันดับแรก


หลายคนบอกว่าไม่จำเป็นต้องละเอียดอ่อนขนาดนั้นวัดหยาบ ๆ แล้วก็ไปแต่งในคอมพิวเตอร์อยู่ดี ยุคนี้ยุคดิจิตอลแล้ว ก็ไม่เถียงนะครับ แต่ก็ไม่ถูกต้องซะทีเดียว ลองคิดดูว่าถ่ายภาพมาสัก 300 ภาพ มานั่งคัดภาพเหลือ 200 ภาพ ที่องค์ประกอบใช้ได้ อีก 100 ภาพต้องครอปและหมุนนิดหน่อย และ 300 ภาพต้องมานั่งปรับแสง ลดแสง ทำ Unsharp Marks อีกเพื่อช่วยแก้ไขภาพที่โฟกัสไม่ชัดอีกสัก 3-40 ภาพ ต้องลบบางส่วนที่เกิน ๆ ออกอีกสัก 2-30 ภาพ

คิด ๆ แล้วอยากเลิกถ่ายภาพครับ ถ่ายภาพวันหนึ่งเสียเวลาแต่งภาพอีก สองวัน รวมเป็นสามวันกว่าจะอัดรูปหรือเขียนลงแผ่นส่งให้เจ้าภาพ (อันนี้คุยเฉพาะงานบันทึกเหตุการณ์เช่นงานทำบุญเล็กน้อยนะครับ ถ้าเป็นงานแต่งคงต้องใช้เวลาเป็นอาทิตย์ และเป็นการถ่ายภาพการกุศลเหมือนผู้เขียนไม่ใช่มือโปรที่รับเงินรับทองเป็นอาชีพ)

เดี๋ยวนี้ผู้เขียนเองถ่ายภาพแล้วสามารถเลือกรูปส่งให้เกือบจะทันที เพราะอะไรนะหรือ

เพราะหัดวัดแสง จัดองค์ประกอบ สื่อเรื่องราวตั้งแต่แรกก่อนกดชัตเตอร์ และเมื่อกดแล้วรีบเปิดดูและไม่ชัดหรือเสียไม่ลังเลที่จะลบทิ้งแล้วถ่ายใหม่

วัดแสงกันอย่างไร?
เป็นคำถามสำหรับมือใหม่ที่ถามกันเยอะมากว่าจะวัดแสงจากกล้องอย่างไร
ก่อนที่จะตอบวิธีการวัดลองมาทำความเข้าใจหลักการการวัดแสงของกล้องก่อนว่าเป็นอย่างไร

กล้องจะรับรู้แสงแล้วแปลงเป็นสีเทากลาง 18%

คำถามที่ตามมาทำไมต้องเป็นสีเทากลาง 18% จะ 20 30 ได้หรือไม่ คำตอบคือ การวัดแสงวัดจากแสงสะท้อน ซึ่งนักวิจัยก่อนที่จะผลิตระบบวัดแสงเขาวิเคราะห์แล้วว่าการสะท้อนแสงของวัตถุจะมีวัตถุที่สะท้อนแสงออกมาได้ 18% (หรือใกล้เคียง) อยู่มากมาย ซึ่งเราสามารถนำมาเป็นแหล่งอ้างอิงในการวัดแสงได้

ก่อนที่จะลงลึกเรื่องวัดแสงแบบไหนเป็นอย่างไร ก็ต้องรู้ก่อนว่ากล้องอ่านค่าแสงแล้วปรับอย่างไร

กล้องจะเปิดรับแสงตามที่กำหนดโดยเลนส์ ความเร็วชัตเตอร์ ความไวแสง มาคำนวน โดยปรับให้เทียบกับค่าสีเทากลาง 18% โดยกล้องจะมองค่าแสง ไม่ได้มองสี ไม่ว่าสีแดง เหลือง น้ำเงิน จะมีค่าสะท้อนแสงในรูปแบบของตัวมันเอง เมื่อเทียบแสงให้เป็นสีเทาแล้วกล้องจะเทียบว่าแสงที่รับเป็นสีเทากลางหรือยัง ถ้าน้อยกว่าก็แสงผลให้เรารู้ว่าแสงไม่พอ เราก็ปรับเพิ่มด้วยการเปิดหน้าเลนส์ให้กว้างขึ้น หรือเพิ่มความไวแสง หรือลดความเร็วชัตเตอร์ลง ทำให้แสงเข้าไปพอดี

แต่ถ้าแสงเข้ามากไปคือมากกว่าสีเทากลายเป็นสีขาว กล้องก็แสดงให้เรารู้ว่าแสงมากภาพจะสว่างเกินเราต้องปรับลดให้แสงเข้าน้อย คือ เปิดหน้าเลนส์ให้แคบกว่าเก่า หรือเพิ่มความเร็วชัตเตอร์ให้มากขึ้น หรือลดความไวแสงลง แสงก็จะเข้ามาพอดี

มีคำถามตามมาอีกว่าแล้วแสงที่ว่าพอดี มันพอดีจริงหรือ?
กล้องถ่ายรูปเป็นอุปกรณ์ไม่มีศักยภาพในการคิดเทียบเท่ากับคนเราได้ เมื่อเทียบเคียงโดยการคำนวณ ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ จากรูปแบบการวัดแสงรูปแบบหนึ่งจะไม่สามารถใช้กับการถ่ายรูปแบบทุกชนิด จึงต้องเรียนรู้ว่าจะใช้การวัดแสงแบบไหนกับการถ่ายรูปแบบไหน เช่น หากเราถ่ายรูปหวานใจอยู่ริมชายหาดโดยหันหลังให้ทะเลเพื่อเก็บบรรยากาศ วัดแสงแล้วกล้องบอกว่าพอดี แต่ถ่ายภาพแล้วนางแบบกลับหน้าดำมองไม่เห็นอะไรเลย นางแบบเลยพาลหาว่าเราถ่ายรูปไม่เป็น (จริง ๆ ก็ไม่เป็นนั่นแหละ) ทั้ง ๆ ที่กล้องบอกว่าแสงพอดีอยู่ขีดเลข 0 แล้ว

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะกล้องถูกหลอกให้วัดแสงเพี้ยนเพราะกล้องจะเอาค่าแสงทั้งหมดมาคำนวน แต่ไม่ได้มองที่หน้านางแบบเพียงอย่างเดียว ดังนั้นการเลือกวัดแสงต้องรู้อีกว่าจะใช้อะไรกับสถานการณ์ไหน

เหตุการณ์เดียวกันหากเลือกวัดแสงให้พอดีหน้านางแบบชัดแสงพอดี เห็นรายละเอียด แต่ท้องฟ้ากับทะเลดูแทบไม่ออกเพราะขาวโพลนไปหมดก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน

และลองเข้าไปดูตามเว็บบอร์ดต่าง ๆ ก็เป็นที่ถกเถียงกันอีกว่า หากในรูปไม่มีอะไรเป็นสีเทากลางให้วัดแสงได้เลยจะวัดที่มืดหรือที่สว่าง (วัดที่สีดำหรือสีขาวดี) คำตอบที่ได้ก็มีทั้งขาวและดำ เถียงกันอุตลุด

สรุปแล้วก็วัดได้ทั้งสองสีนั่นแหละครับ หากรู้ว่าวัดแล้วต้องชดเชยแสงขนาดไหน สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ครับ

ทีนี้ลองแบบง่าย ๆ สำหรับการวัดแสง
เลือกการวัดแสงสักรูปแบบหนึ่ง เอาเป็นว่าวัดแบบ Partient  (Nikon ไปเทียบเอาเองนะ) เป็นการวัดแสงประมาณ 8-9% ตรงกลางภาพก็วง ๆ ตรงกลางนั่นแหละ จะเป็นจุดวัด ชี้ไปทางไหน กดมิเตอร์ลงครึ่งหนึ่งก็จะเห็นว่าระดับขีดมันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เพราะมันเอาค่าแสงเฉพาะที่ตรงกลางบริเวณประมาณ 8-9% มาคำนวนและบอกค่าแสงเรา

แต่เราจะวัดตรงไหน ก็วัดตรงที่เป็นสีเทากลางนั่นแหละ แล้วถ้าไม่มีล่ะ ก็หาเอา ถ้าไม่ได้ก็สว่างหรือมืดก็เลือกเอาตามใจ...

ถ้าวัดจากสีเทากลาง หรือ สีเขียวที่ไม่สว่างก็ตรงขีดกลางหรือเลข 0 ถือว่าพอดี แต่ถ้าสิ่งที่เราวัดเป็นสีดำ ก็ต้องชดเชยแสงมาทางลบหรือปรับอันเตอร์ 1-2 stop คือกล้องมันจะปรับให้สีดำเป็นสีเทา เราต้องลดการรับแสงลงให้กล้องจับภาพเป็นสีดำ

กลับกันถ้าวัดส่วนที่เป็นสีขาว กล้องก็มองสีขาวเป็นสีเทา ทำให้ภาพนั้นสีออกมาเทาๆ หรือช่างภาพเรียกว่า ตุ่นๆ เราต้องบอกให้กล้องเพิ่มการรับแสงเข้าไปอีก 1-2 stop สีขาวก็จะขาวขึ้นมา

แค่นี้แหละหลักการการวัดแสง แต่ต้องเลือกโหมดและเข้าใจก่อนว่ากล้องใช้การวัดแบบไหน...

2 ก.พ. 2555

มือโปรเป็นอย่างไร

บ่อยครั้งที่เข้าไปตามเว็บบอร์ดจะเห็นบางคนอ้างถึงโปร พูดถึงโปร ๆ ๆ ๆ จนอยากรู้ว่าโปรที่แท้จริงคืออะไร เป็นอย่างไร แล้วมีนิยามเกี่ยวกับโปรอย่างไร หากไปหาอ่านดูที่เว็บต่างประเทศหลาย ๆ เว็บจะเข้าใจและยืนยันว่าผู้เขียนเข้าใจถูกเกี่ยวกับคำนิยามของคำว่า Professional Photographer

แต่สำหรับบ้านเรายังแยกแยะกันไม่ค่อยเป็นทำให้เป็นที่ถกเถียงกันอย่างจริงจังบ้าง อย่างเสียดสีบ้างก็มี

จนมีคำพูดบางคนพูดว่า เป็นโปรกล้องหรือโปรภาพ เพราะบางคนก็เน้นเรื่องกล้อง เห็นกล้องดี ๆ เลนส์ดี ๆ ก็ตีว่าเป็นมือโปร(กล้อง) หรือสามารถเทิร์นโปรได้ แต่บางคนก็มองที่ภาพการตกแต่งภาพว่ากล้องอะไรก็ได้หากถ่ายแล้วภาพออกมาดีด้วยฝีมือและสามารถตกแต่งภาพได้สวยงาม ถูกใจคนชมก็ถือว่าเป็นโปร(ภาพ)

สำหรับผู้เขียนแล้วเห็นว่ามุมมองทั้งสองอย่างคือโปรกล้องและโปรภาพนั้นก็ยังไม่ถูกต้องมากนักสำหรับคำว่ามืออาชีพ (Professional)

เพราะมีคำว่าอาชีพเข้ามาเกี่ยวข้อง นั่นคือรายได้

27 ม.ค. 2555

การถ่ายรูปเบื้องต้น: แสง-สี กับการถ่ายรูป

หลักการถ่ายรูปเราทราบกันดีแล้วว่าเป็นการบันทึกค่าของ แสงและสี ที่ตกกระทบเซ็นเซอร์ (สมัยก่อนก็ตกกระทบกับฟิล์มถ่ายรูป) โดยเซ็นเซอร์จะเก็บค่าของสี 3 สีคือ RGB (แดง เขียว น้ำเงิน) ส่วนแสงนั้นก็เกิดจากการผสมของสีทั้งสาม มีค่าหนักเบา (Value) ต่าง ๆ กันทำให้เกิดความเข้มของแสง

บทความก่อนทำให้เราทราบว่าสายตามนุษย์มีการรับรู้เรื่องของสีและความเข้มแสงแยกออกจากกัน ทำให้มนุษย์สามารถแยกแยะแสง-เงาและสีได้ดีกว่ากล้องเป็นไหนๆ

แสงที่ใช้ในการถ่ายรูปมีสองแบบคือ แสงธรรมชาติ และแสงประดิษฐ์ (โดยเลียนแบบแสงธรรมชาติ) แสงธรรมชาติก็มาจากแหล่งกำเนิดที่ใหญ่ที่สุดคือ ดวงอาทิตย์ โดยแต่ละวันก็จะเปลี่ยนแปลง แตกต่างกันไป ตามการหมุนเวียนและฝุ่นละออง เมฆฝนตามผิวโลก

การถ่ายรูปแต่ละครั้งผู้ถ่ายต้องอาศัยแสงตามธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ บางครั้งโอกาสในการถ่ายรูปด้วยแสงธรรมชาติก็ไม่สามารถพบเห็นบ่อย ๆ มนุษย์จึงต้องอาศัยแสงประดิษฐ์เพื่อส่องสว่างแทน แสงที่ได้ก็แตกต่างกันไป ผู้ถ่ายจำต้องเรียนรู้ศึกษาให้ถ่องแท้ว่าแสงแต่ละแบบมีผลต่อภาพถ่ายอย่างไร

19 ม.ค. 2555

จิตวิญญานของการถ่ายรูป

ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า ภาพถ่าย ถือว่าเป็นศิลปะประเภทไหน เป็นวิจิตรศิลป์ (Fine Art) หรือประยุกต์ศิลป์ (Applied Art) แต่ถ้าหากเข้าใจในเรื่องศิลปะแล้วเราสามารถแยกแยะว่ารูปไหนเข้าข่ายวิจิตรศิลป์ และรูปไหนเป็นประยุกต์ศิลปะ แล้วก็มีบางภาพเป็นขยะไปเลยทีเดียว ไม่สามารถจัดเป็นศิลปะได้

การถ่ายภาพในยุคดิจิตอลเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย มีโปรแกรมหลากหลายช่วยในการถ่ายภาพ ตกแต่งภาพทำให้ดูดี เพิ่มลูกเล่นต่าง ๆ ความหลากหลายนั้นก็ทำให้ดูเหมือนคุณค่าของภาพถ่ายลดลง โดยที่จริงแล้วศิลปะการถ่ายภาพก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม

คนที่ผ่านการถ่ายรูปด้วยกล้อง D-SLRs มาบ้างแล้วจะรู้ว่าการถ่ายภาพไม่ใช่สิ่งที่ง่าย หากต้องการถ่ายภาพให้สวยงาม ต้องใช้ความคิดตลอดเวลาก่อนที่จะกดถ่ายภาพเท่านั้นถึงจะได้ภาพสวย ๆ แต่หากถ่ายสักแต่ว่าถ่ายไม่คิดอะไรเลยกล้องราคาเรือนแสนก็ไม่ต่างจากกล้องมือถือหรือกล้องราคาหลักพัน

องค์ประกอบภาพ แสง เงา สีสัน เป็นส่วนประกอบหลักที่ทำให้ภาพออกมาดูดีเป็นเอกลักษณ์ ภาพบางภาพหากถ่ายในวันเวลาต่างกันย่อมได้ผลลัพธ์ต่างอย่างเห็นชัด

15 ม.ค. 2555

สายตารับรู้แสงและสีอย่างไร

ตั้งชื่อบทความดูเหมือนจะเป็นข้อมูลทางการแพทย์เสียอย่างนั้น อย่าพึ่งเข้าใจผิดคิดว่าบล็อกนี้เปลี่ยนไปนะครับ แต่เนื่องจากการถ่ายภาพนั้นเป็นเรื่องของ สี แสง เงา และองค์ประกอบ ก่อนที่เราจะลงรายละเอียดเกี่ยวกับสีและแสงเงานั้นเราต้องรู้จักเสียก่อนว่าดวงตามนุษย์นั้นสามารถมองเห็นสีได้อย่างไร

ดวงตาของมนุษย์นั้นเปรียบเหมือนกับเลนส์ของกล้องแต่มีคุณสมบัติพิเศษมากมายเกินกว่าที่เทคโนโลยีในสมัยปัจจุบันจะจำลองออกมาได้ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของระบบร่างกายทำให้มนุษย์มีความสามารถและศักยภาพในการมองเห็น การคิด การเชื่อมโยงต่อไปอย่างไม่รู้จบ

ดวงตาของเราจะมีรวมเอาเลนส์และเซ็นเซอร์มาอยู่ด้วยกันที่เดียวกัน โดย


ที่ผนังดวงตา (Retina) จะมีเซลล์รับแสงและสีอยู่ด้วย เรียกว่า Rods และ Cones โดย Rods จะทำหน้าที่รับรู้ความเข้มของแสง มีจำนวนประมาณ 120 ล้านเซลล์ ส่วน Cones จะทำหน้าที่รับรู้เกี่ยวกับสีมีจำนวนประมาณ 7 ล้านเซลล์ เซ็นเซอร์แสงในดวงตามนุษย์จะมีมากถ้าประมาณเทียบเคียงแบบหยาบ ๆ ก็ 120 MP ทำให้สายตามมนุษย์สามารถแยกแยะระดับการรับแสงได้ดีกว่ามาก โดยเราจะมองเห็นส่วนที่อยู่ในเงามืดได้ดีกว่ากล้องมาก และคุณสมบัตินี้เองที่ทำให้เวลาถ่ายรูปออกมายังไงก็ไม่เหมือนกับที่เราเห็นด้วยสายตา ส่วนเซ็นเซอร์รับสีก็ประมาณ 7 MP เทียบเคียงกับกล้องก็ถือว่าระดับที่ดี และเราจะสามารถแยกแยะความชัดเจนของสีได้ดี แต่สู้การรับรู้ทางความเข้มของแสงไม่ได้ (สำหรับกล้องถ่ายรูปที่เทียบเคียงกับ Rods ได้ก็คือ ISO ที่ทำให้เซ็นเซอร์รับความสว่างของแสงมากหรือน้อย)

สังเกตง่าย ๆ อีกอย่างหนึ่งคือหากเราอยู่ในช่วงเวลากลางคืนเราจะสามารถมองเห็นในที่มืดได้ดี และม่านตาคนเราจะเปิดกว้างมากกว่าเลนส์กล้อง (แต่เคยอ่านเจอที่ไหนไม่รู้ว่าดวงตามนุษย์จะมีค่า f ต่ำกว่า 1 หากพบจะนำมาแก้ไขอีกที) แต่ไปอ่านเจอในเว็บนี้ http://www.photosig.com/articles/585/article เขาบอกว่าสายตามนุษย์มีค่า f/2.1 ในที่มืด และ f/8.3 ในที่สว่าง นี่แหละครับเลนส์ทั่ว ๆ ไปจะชัดใน f/8 นะครับ (ไม่รู้จะเกี่ยวกับหรือว่าบังเอิญเหมือน)



สำหรับ Cones ที่อยู่ใน Retina จะมีลักษณะคล้าย ๆ กับเซ็นเซอร์ของกล้อง (กล้องจำลองไปจากดวงตามนุษย์) มีเซลล์ไวต่อสี RGB กระจายตัวเหมือนในรูป


จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นก็พอทราบแล้วว่าสายตาเราสามารถรับรู้แสงและสีอย่างไร และแสงที่เราเห็นจากธรรมชาตินั้นเป็นแสงสีขาวมาจากแหล่งกำเนิดคือดวงอาทิตย์ เมื่อตกกระทบกับวัตถุต่าง ๆ ที่มีคุณสมบัติสะท้อนแสงแต่ละสีออกมาทำให้เราเห็นเป็นสีต่าง ๆ เช่น
  • วัตถุสีแดง จะดูดสีเขียว และน้ำเงินไว้ แล้วสะท้อนเฉพาะสีแดงออกมา
  • วัตถุสีขาว จะสะท้อนทุกสีออกมาเท่า ๆ กันทำให้แสงเป็นแสงขาวเหมือนเดิม
  • วัตถุสีดำ จะดูดแสงทุกสีไว้ไม่สะท้อนออกมาก
แต่หากสังเกตอีกนิดจะพบว่าวัตถุสีดำดูดแสงไว้ก็ตาม แต่สายตามนุษย์จะสามารถมองเห็นได้โดยใช้คุณสมบัติการรับรู้ความเข้มของแสงมาช่วย ทำให้เราทราบระดับสีดำที่เข้มหรือสว่างได้ดีกว่ากล้องถ่ายภาพ

ไม่รู้ว่าจะพาผู้อ่านเข้าป่ารกชัฎหรือเปล่าก็ไม่รู้ ลองค่อย ๆ ทำความเข้าใจและหากพบว่าผิดพลาดหรือบกพร่องประการใดรบกวนช่วยแนะนำเพื่อให้เนื้อหาสมบูรณ์เพิ่มขึ้นนะครับ... สวัสดีครับ

11 ม.ค. 2555

ก่อนถ่ายรูปควรคิดก่อนว่าจะสื่ออะไร...

ช่วงนี้ได้ทบทวนเรื่องศิลปะอย่างต่อเนื่อง พยายามค้นหาประเภทของการถ่ายภาพ เพื่อจัดหมวดหมู่ตามประเภทของศิลปะ ก็ยังงง ๆ เพราะหลายสำนักต่างก็มีความคิดเห็นต่างกันไป บ้างก็ว่าเป็นพาณิชย์ศิลป์ บ้างก็บอกว่าเป็นทัศนศิลป์ บ้างก็บอกว่าเป็นแค่การบันทึกเหตุการณ์หาใช่ศิลปะ แต่อย่างหลังนี่ก็หมิ่นเหม่ หากใช้กับภาพท่องเที่ยวทั่วไปคงจะระบุได้ แต่สำหรับหลาย ๆ ภาพของหลาย ๆ คนถ่ายออกมาแล้วเป็นเรื่องการถ่ายทอดอารมณ์นั่นก็เข้าหลักเกณฑ์งานศิลปะอีกนั่นแหละ และปัจจุบันนี้ในแวดวงศิลปินจะมีรางวัลศิลปินแห่งชาติสาขาภาพถ่าย ซึ่งก็เป็นการยอมรับว่าการถ่ายภาพเป็นศิลปะชนิดหนึ่ง และคาดว่าในอนาคตน่าจะเป็นศิลปะที่น่าสนใจสาขาหนึ่ง เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว

สำหรับบทความฉบับนี้ผู้เขียนเพียงได้ข้อคิดและแนวทางที่สะสมมาจากการฟัง การอ่าน และต่อเติมเสริมแต่งความคิด (เอาความคิดของคนอื่นมากลั่นกรองใหม่ให้เหมาะสมกับตัวเอง) เพื่อนำมาใช้ก่อนที่จะถ่ายภาพ โดยผู้เขียนจะแยกงานถ่ายภาพออกมาเป็นสองแบบคือ ถ่ายเก็บเหตุการณ์ กับการถ่ายเพื่อสื่อสาร

ความเป็นเอกภาพ (Unity)

ในทฤษฎีศิลปะเรื่องการจัดองค์ประกอบยังมีเรื่องของ ความเป็นเอกภาพ หรือ Unity ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการจัดแสดงเนื้อหาของศิลปะ ความเป็นเอกภาพคือการจัดสรรให้สิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฎให้ลงตัวตามความรู้สึกและสื่อออกมาตามอารมณ์ของผู้นำเสนอ

ความเป็นเอกภาพไม่ได้หมายความต้องต้องเหมือนกันเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะมีความขัดแย้ง หรือเป็นไปในทิศทางเดียวกันก็ได้ แต่ในเมื่อมีความขัดแย้งของวัตถุที่นำเสนอศิลปินต้องจัดให้มีการประสานไม่ว่าจะเชื่อมโยงโดยใช้ สี เส้น แสง เงา เพื่อเป็นตัวเชื่อให้ความขัดแย้งนั้นดูมีจังหวะและลีลา

ความเป็นเอกภาพนี้ยังทำให้เนื้อหาที่ต้องการสื่อเป็นเรื่องราวเดียวกัน และไม่แตกแยกเรื่องราวออกไป ถึงแม้จะมีความหมายร้อยพัน แต่ก็เป็นเอกภาพเดียวกัน

หลัก ๆ แล้วเอกภาพแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
  1. เอกภาพการแสดงออก - เป็นความลงตัวของเนื้อหาที่ศิลปินต้องการสื่อ
  2. เอกภาพด้านรูปทรง - เป็นความลงตัวของ เส้น แสง เงา รูปร่างในงานที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

9 ม.ค. 2555

ส่วนประกอบของศิลปะ

บทความนี้จะกล่าวถึงพื้นฐานเกี่ยวกับส่วนประกอบของศิลปะ ซึ่งเป็นขั้นมูลฐาน (The Element of Art) ผู้สนใจการถ่ายภาพควรรู้จักเป็นเบื้องต้นเสียก่อน และควรทำความเข้าใจให้เป็นหลักการที่อยู่ในใจ และซึมซับไปถึงอารมณ์ของตน ไม่ใช่เรียนรู้เพียงเป็นทฤษฎีแล้วนำไปกล่าวอ้างกับคนอื่นเพื่อให้คนอื่นเข้าใจว่ารู้จัก เพราะคำว่ารู้จักนั้นควรเกิดจากการรับรู้ที่ลึกซึ้งหรือเรียกว่า พุทธิปัญญา (Cognition) และบทความก่อนหน้าเราเข้าใจถึงคำว่า ศิลปะ พอเป็นปฐมบทแล้วต่อไปนี้จะกล่าวถึงส่วนประกอบของศิลปะตามแบบฉบับคนนอกวงการศิลป์ บทความนี้จะเรียกองค์รวมของศิลปะว่า ส่วนประกอบ จะได้ไม่สับสนกับคำว่า องค์ประกอบของภาพ

ส่วนประกอบของศิลปะ (The Element of Art)
หากสังเกตงานศิลป์ที่มีอยู่ทุกวันนี้จะประกอบไปด้วย เส้น (Line) รูปร่าง (Shape) ลักษณะ (Form) ช่องว่าง (Space) พื้นผิว (Texture) สี (Color) คุณค่า (Value)

8 ม.ค. 2555

รู้จักศิลปะ

บล็อกนี้ขอพักเกี่ยวกับการถ่ายรูปเบื้องต้นมาคุยเรื่องศิลปะกับการถ่าย ภาพกันสักนิด... และออกตัวก่อนว่าผู้เขียนไม่ได้เชี่ยวชาญด้านศิลปะชนิดหาตัวจับยาก แต่อาศัยประสบการณ์ความรู้สึกนึกคิด ความอ่อนไหวตามธรรมชาติมากล่าวถึงศิลปะ เรียกได้ว่า มุมมองศิลปะจากบุคคลภายนอก ที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงศิลปินชั้นแนวหน้า

ศิลปะ... หมายถึงอะไร?
ศิลปิน... หมายถึงใคร?

(สืบ เนื่องจากไปแสดงความคิดเห็นในเว็บบอร์ดแห่งหนึ่งแล้วมีข้อคิดที่ขัดแย้งซึ่ง ยังเป็นมุมมองที่มองเพียงเหตุเดียว - เอกังสวาท, จึงเป็นที่มาของบทความนี้เพื่อแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของศิลปะและการถ่าย ภาพ สำหรับมือใหม่ที่จะเริ่มต้นเรียนรู้การถ่ายภาพเพื่อถ่ายทอดความรู้สึก นึกคิด)

เมื่อย้อนไปสมัยก่อนพุทธกาลในยุคที่ยังไม่มีศาสนา มนุษย์มีความเชื่อเรื่องความลึกลับจะดลบันดาลให้เกิดเหตุ เภทภัยต่าง ๆ จึงพากันหาทางออกเพื่อให้พ้นจากภยันตราย หนึ่งในนั้นก็คือการบูชาสิ่งรี้ลับ ตามความเชื่อ และภูมิความรู้ในชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง