14 ก.พ. 2555

ถ่ายรูปใช้แฟลชต้องทำอย่างไร

คำถามแรกสำหรับคนที่ซื้อแฟลชนอกมาใช้มักจะสับสนว่าจะถ่ายอย่างไรวัดแสงอย่างไร เป็นคำถามที่ไม่ได้รับคำตอบหรือได้คำตอบที่หลากหลายมาก บทความนี้จึงเป็นการนำเอาประสบการณ์มาร่วมแสดงเผื่อมือใหม่ทั้งหลายจะเข้าใจ

การถ่ายด้วยแฟลชนอกจะมีสองอย่างคือ ยิงแฟลชตรง กับ ยิงแฟลชสะท้อน (Bounce) ความแตกต่างทั้งสองแบบก็ไม่มากสักเท่าไรหากเข้าใจหลักการของทำงานของแฟลชเสียก่อน

TTL คืออะไร?
TTL (Through The Lens) คือการวัดแสงเพื่อควบคุมปริมาณแสงแฟลชผ่านทางเลนส์ ปัจจุบันของ Canon เป็น E-TTL-II (Evaluate Through The Lens) โดยหลักการทำงานของแฟลชจะมีการตรวจสอบความเร็วชัตเตอร์ ISO และการเปิดหน้าเลนส์แล้วตรวจสอบว่าจะกำหนดให้แฟลชทำงานเพื่อชดเชยแสงที่ปรับไว้ขนาดไหน โดยการทำงานจะมีการคำนวนคร่าว ๆ ก่อนเมื่อเรากดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่ง แต่ขณะที่กดถ่ายรูปและแฟลชทำงานก็จะมีการวัดแสงและชดเชยในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เรียกได้ว่าในช่วงเสี้ยวหนึ่งของนาทีเลยก็ว่าได้ ส่วนรายละเอียดลึก ๆ จะค้นหาและนำมากล่าวถึงทีหลัง

3 ก.พ. 2555

วัดแสงกันตรงไหน... อย่างไร

(บทความยังไม่สมบูรณ์ขาดข้อมูลเพิ่มเติมและรูปภาพประกอบจะมาเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง)
แรก ๆ ใช้กล้อง FM2N ตอนไปซื้อเจ้าของร้านบอกว่า น้องเล็งไปที่แบบที่เราจะถ่าย กดชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่ง แล้วก็ปรับค่า f และ s ให้แสงในช่องมันตรงขีด 0 แล้วก็กดถ่ายได้เลย ถ้าใช้แฟลชก็ตั้งความเร็วไปที่ 1/125s เปิด f/5.6 ใช้ฟิล์ม ISO 400 ถ่ายได้เลย...

ม้วนแรกใช้ ISO 400 ก่อนประเดิมเพราะกลัวว่าถ่ายในที่ร่มแล้วแสงจะไม่พอ ถ่ายไปอยากให้หมดเร็ว ๆ จะได้ไปอัดรูป คิดว่า 36 ภาพเบลอ ๆ มืด ๆ สว่าง ๆ ต้องมาแน่ ๆ ขอให้ได้ภาพดี ๆ สัก 20 ก็โอเคแล้ว

อัดภาพออกมาได้ 37 ภาพใช้ได้หมด โห... ดีใจสุด ๆ นี่ม้วนแรก ถ่าย SLR ครั้งแรก กล้องมือสองไม่รู้ว่าจะเสียหรือเปล่า... กำลังใจมาเต็มเปี่ยม

ต่อมาก็ซื้อหนังสือเรื่องการถ่ายภาพ ใคร ๆ ก็คุยกันเรื่องวัดแสง ๆ ๆ ๆ ใช้ระบบเฉพาะจุด บ้างเฉลี่ยหนักกลาง เฉลี่ยทั้งภาพ เมทริกซ์ Patient บ้าง ไม่ค่อยเข้าใจก็เก็บเล็กผสมน้อยไป แต่กล้องของเรามีเฉลี่ยหนักกลางเพียงอย่างเดียว การวัดแสงตอนนั้นก็ไม่มาก ให้ตรงเลข 0 ให้มากที่สุด + บ้าง - บ้าง ก็ปน ๆ กันไป แต่อัดภาพดีเกือบหมด (ที่ไหนได้ร้านเพิ่มแสงลดแสงให้ตอนอัด)

พอมาใช้ Digital SLRs แล้วก็เริ่มสนุกกับการวัดแสง เพราะใช้ EOS-400D ก็มีระบบวัดแสงให้ตั้ง 3 แบบ ก็มากกว่า FM2N ก็แล้วกัน แต่พอมาเจอ 50D การวัดแสงดีกว่ามากกว่า 400D ก็ยิ่งสนุกไปกันใหญ่

ใช้กล้องดิจิตอลครั้งแรกถ่ายจนกล้อง 400D พังเข้าโรงซ่อมไปสองสามรอบ การถ่ายภาพยังไม่มีการพิถีพิถันอะไรมากนัก วัดแสงหยาบ ๆ มากน้อยเดี๋ยวปรับในคอมฯ อีกที องค์ประกอบพอได้ ถ้าไม่ดีก็ตัดในคอมฯ อีกที กลายเป็นว่าถ่ายรูปแล้วถ้าไม่มีคอมพิวเตอร์มันใช้ไม่ได้เลย ไม่มีสักภาพเลยที่ถ่ายแล้วไปส่งอัดภาพทันทีได้ ทำให้เริ่มคิดว่ากล้องมันดีขึ้นแต่เราแย่ลงหรือเปล่า

ในที่สุดก็เริ่มมาศึกษาอย่างจริงจังเรื่อง สี แสง-เงา และองค์ประกอบของภาพ โดยเริ่มจากการจัดองค์ประกอบและการวัดแสงก่อนอันดับแรก


หลายคนบอกว่าไม่จำเป็นต้องละเอียดอ่อนขนาดนั้นวัดหยาบ ๆ แล้วก็ไปแต่งในคอมพิวเตอร์อยู่ดี ยุคนี้ยุคดิจิตอลแล้ว ก็ไม่เถียงนะครับ แต่ก็ไม่ถูกต้องซะทีเดียว ลองคิดดูว่าถ่ายภาพมาสัก 300 ภาพ มานั่งคัดภาพเหลือ 200 ภาพ ที่องค์ประกอบใช้ได้ อีก 100 ภาพต้องครอปและหมุนนิดหน่อย และ 300 ภาพต้องมานั่งปรับแสง ลดแสง ทำ Unsharp Marks อีกเพื่อช่วยแก้ไขภาพที่โฟกัสไม่ชัดอีกสัก 3-40 ภาพ ต้องลบบางส่วนที่เกิน ๆ ออกอีกสัก 2-30 ภาพ

คิด ๆ แล้วอยากเลิกถ่ายภาพครับ ถ่ายภาพวันหนึ่งเสียเวลาแต่งภาพอีก สองวัน รวมเป็นสามวันกว่าจะอัดรูปหรือเขียนลงแผ่นส่งให้เจ้าภาพ (อันนี้คุยเฉพาะงานบันทึกเหตุการณ์เช่นงานทำบุญเล็กน้อยนะครับ ถ้าเป็นงานแต่งคงต้องใช้เวลาเป็นอาทิตย์ และเป็นการถ่ายภาพการกุศลเหมือนผู้เขียนไม่ใช่มือโปรที่รับเงินรับทองเป็นอาชีพ)

เดี๋ยวนี้ผู้เขียนเองถ่ายภาพแล้วสามารถเลือกรูปส่งให้เกือบจะทันที เพราะอะไรนะหรือ

เพราะหัดวัดแสง จัดองค์ประกอบ สื่อเรื่องราวตั้งแต่แรกก่อนกดชัตเตอร์ และเมื่อกดแล้วรีบเปิดดูและไม่ชัดหรือเสียไม่ลังเลที่จะลบทิ้งแล้วถ่ายใหม่

วัดแสงกันอย่างไร?
เป็นคำถามสำหรับมือใหม่ที่ถามกันเยอะมากว่าจะวัดแสงจากกล้องอย่างไร
ก่อนที่จะตอบวิธีการวัดลองมาทำความเข้าใจหลักการการวัดแสงของกล้องก่อนว่าเป็นอย่างไร

กล้องจะรับรู้แสงแล้วแปลงเป็นสีเทากลาง 18%

คำถามที่ตามมาทำไมต้องเป็นสีเทากลาง 18% จะ 20 30 ได้หรือไม่ คำตอบคือ การวัดแสงวัดจากแสงสะท้อน ซึ่งนักวิจัยก่อนที่จะผลิตระบบวัดแสงเขาวิเคราะห์แล้วว่าการสะท้อนแสงของวัตถุจะมีวัตถุที่สะท้อนแสงออกมาได้ 18% (หรือใกล้เคียง) อยู่มากมาย ซึ่งเราสามารถนำมาเป็นแหล่งอ้างอิงในการวัดแสงได้

ก่อนที่จะลงลึกเรื่องวัดแสงแบบไหนเป็นอย่างไร ก็ต้องรู้ก่อนว่ากล้องอ่านค่าแสงแล้วปรับอย่างไร

กล้องจะเปิดรับแสงตามที่กำหนดโดยเลนส์ ความเร็วชัตเตอร์ ความไวแสง มาคำนวน โดยปรับให้เทียบกับค่าสีเทากลาง 18% โดยกล้องจะมองค่าแสง ไม่ได้มองสี ไม่ว่าสีแดง เหลือง น้ำเงิน จะมีค่าสะท้อนแสงในรูปแบบของตัวมันเอง เมื่อเทียบแสงให้เป็นสีเทาแล้วกล้องจะเทียบว่าแสงที่รับเป็นสีเทากลางหรือยัง ถ้าน้อยกว่าก็แสงผลให้เรารู้ว่าแสงไม่พอ เราก็ปรับเพิ่มด้วยการเปิดหน้าเลนส์ให้กว้างขึ้น หรือเพิ่มความไวแสง หรือลดความเร็วชัตเตอร์ลง ทำให้แสงเข้าไปพอดี

แต่ถ้าแสงเข้ามากไปคือมากกว่าสีเทากลายเป็นสีขาว กล้องก็แสดงให้เรารู้ว่าแสงมากภาพจะสว่างเกินเราต้องปรับลดให้แสงเข้าน้อย คือ เปิดหน้าเลนส์ให้แคบกว่าเก่า หรือเพิ่มความเร็วชัตเตอร์ให้มากขึ้น หรือลดความไวแสงลง แสงก็จะเข้ามาพอดี

มีคำถามตามมาอีกว่าแล้วแสงที่ว่าพอดี มันพอดีจริงหรือ?
กล้องถ่ายรูปเป็นอุปกรณ์ไม่มีศักยภาพในการคิดเทียบเท่ากับคนเราได้ เมื่อเทียบเคียงโดยการคำนวณ ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ จากรูปแบบการวัดแสงรูปแบบหนึ่งจะไม่สามารถใช้กับการถ่ายรูปแบบทุกชนิด จึงต้องเรียนรู้ว่าจะใช้การวัดแสงแบบไหนกับการถ่ายรูปแบบไหน เช่น หากเราถ่ายรูปหวานใจอยู่ริมชายหาดโดยหันหลังให้ทะเลเพื่อเก็บบรรยากาศ วัดแสงแล้วกล้องบอกว่าพอดี แต่ถ่ายภาพแล้วนางแบบกลับหน้าดำมองไม่เห็นอะไรเลย นางแบบเลยพาลหาว่าเราถ่ายรูปไม่เป็น (จริง ๆ ก็ไม่เป็นนั่นแหละ) ทั้ง ๆ ที่กล้องบอกว่าแสงพอดีอยู่ขีดเลข 0 แล้ว

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะกล้องถูกหลอกให้วัดแสงเพี้ยนเพราะกล้องจะเอาค่าแสงทั้งหมดมาคำนวน แต่ไม่ได้มองที่หน้านางแบบเพียงอย่างเดียว ดังนั้นการเลือกวัดแสงต้องรู้อีกว่าจะใช้อะไรกับสถานการณ์ไหน

เหตุการณ์เดียวกันหากเลือกวัดแสงให้พอดีหน้านางแบบชัดแสงพอดี เห็นรายละเอียด แต่ท้องฟ้ากับทะเลดูแทบไม่ออกเพราะขาวโพลนไปหมดก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน

และลองเข้าไปดูตามเว็บบอร์ดต่าง ๆ ก็เป็นที่ถกเถียงกันอีกว่า หากในรูปไม่มีอะไรเป็นสีเทากลางให้วัดแสงได้เลยจะวัดที่มืดหรือที่สว่าง (วัดที่สีดำหรือสีขาวดี) คำตอบที่ได้ก็มีทั้งขาวและดำ เถียงกันอุตลุด

สรุปแล้วก็วัดได้ทั้งสองสีนั่นแหละครับ หากรู้ว่าวัดแล้วต้องชดเชยแสงขนาดไหน สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ครับ

ทีนี้ลองแบบง่าย ๆ สำหรับการวัดแสง
เลือกการวัดแสงสักรูปแบบหนึ่ง เอาเป็นว่าวัดแบบ Partient  (Nikon ไปเทียบเอาเองนะ) เป็นการวัดแสงประมาณ 8-9% ตรงกลางภาพก็วง ๆ ตรงกลางนั่นแหละ จะเป็นจุดวัด ชี้ไปทางไหน กดมิเตอร์ลงครึ่งหนึ่งก็จะเห็นว่าระดับขีดมันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เพราะมันเอาค่าแสงเฉพาะที่ตรงกลางบริเวณประมาณ 8-9% มาคำนวนและบอกค่าแสงเรา

แต่เราจะวัดตรงไหน ก็วัดตรงที่เป็นสีเทากลางนั่นแหละ แล้วถ้าไม่มีล่ะ ก็หาเอา ถ้าไม่ได้ก็สว่างหรือมืดก็เลือกเอาตามใจ...

ถ้าวัดจากสีเทากลาง หรือ สีเขียวที่ไม่สว่างก็ตรงขีดกลางหรือเลข 0 ถือว่าพอดี แต่ถ้าสิ่งที่เราวัดเป็นสีดำ ก็ต้องชดเชยแสงมาทางลบหรือปรับอันเตอร์ 1-2 stop คือกล้องมันจะปรับให้สีดำเป็นสีเทา เราต้องลดการรับแสงลงให้กล้องจับภาพเป็นสีดำ

กลับกันถ้าวัดส่วนที่เป็นสีขาว กล้องก็มองสีขาวเป็นสีเทา ทำให้ภาพนั้นสีออกมาเทาๆ หรือช่างภาพเรียกว่า ตุ่นๆ เราต้องบอกให้กล้องเพิ่มการรับแสงเข้าไปอีก 1-2 stop สีขาวก็จะขาวขึ้นมา

แค่นี้แหละหลักการการวัดแสง แต่ต้องเลือกโหมดและเข้าใจก่อนว่ากล้องใช้การวัดแบบไหน...

2 ก.พ. 2555

มือโปรเป็นอย่างไร

บ่อยครั้งที่เข้าไปตามเว็บบอร์ดจะเห็นบางคนอ้างถึงโปร พูดถึงโปร ๆ ๆ ๆ จนอยากรู้ว่าโปรที่แท้จริงคืออะไร เป็นอย่างไร แล้วมีนิยามเกี่ยวกับโปรอย่างไร หากไปหาอ่านดูที่เว็บต่างประเทศหลาย ๆ เว็บจะเข้าใจและยืนยันว่าผู้เขียนเข้าใจถูกเกี่ยวกับคำนิยามของคำว่า Professional Photographer

แต่สำหรับบ้านเรายังแยกแยะกันไม่ค่อยเป็นทำให้เป็นที่ถกเถียงกันอย่างจริงจังบ้าง อย่างเสียดสีบ้างก็มี

จนมีคำพูดบางคนพูดว่า เป็นโปรกล้องหรือโปรภาพ เพราะบางคนก็เน้นเรื่องกล้อง เห็นกล้องดี ๆ เลนส์ดี ๆ ก็ตีว่าเป็นมือโปร(กล้อง) หรือสามารถเทิร์นโปรได้ แต่บางคนก็มองที่ภาพการตกแต่งภาพว่ากล้องอะไรก็ได้หากถ่ายแล้วภาพออกมาดีด้วยฝีมือและสามารถตกแต่งภาพได้สวยงาม ถูกใจคนชมก็ถือว่าเป็นโปร(ภาพ)

สำหรับผู้เขียนแล้วเห็นว่ามุมมองทั้งสองอย่างคือโปรกล้องและโปรภาพนั้นก็ยังไม่ถูกต้องมากนักสำหรับคำว่ามืออาชีพ (Professional)

เพราะมีคำว่าอาชีพเข้ามาเกี่ยวข้อง นั่นคือรายได้