27 ม.ค. 2555

การถ่ายรูปเบื้องต้น: แสง-สี กับการถ่ายรูป

หลักการถ่ายรูปเราทราบกันดีแล้วว่าเป็นการบันทึกค่าของ แสงและสี ที่ตกกระทบเซ็นเซอร์ (สมัยก่อนก็ตกกระทบกับฟิล์มถ่ายรูป) โดยเซ็นเซอร์จะเก็บค่าของสี 3 สีคือ RGB (แดง เขียว น้ำเงิน) ส่วนแสงนั้นก็เกิดจากการผสมของสีทั้งสาม มีค่าหนักเบา (Value) ต่าง ๆ กันทำให้เกิดความเข้มของแสง

บทความก่อนทำให้เราทราบว่าสายตามนุษย์มีการรับรู้เรื่องของสีและความเข้มแสงแยกออกจากกัน ทำให้มนุษย์สามารถแยกแยะแสง-เงาและสีได้ดีกว่ากล้องเป็นไหนๆ

แสงที่ใช้ในการถ่ายรูปมีสองแบบคือ แสงธรรมชาติ และแสงประดิษฐ์ (โดยเลียนแบบแสงธรรมชาติ) แสงธรรมชาติก็มาจากแหล่งกำเนิดที่ใหญ่ที่สุดคือ ดวงอาทิตย์ โดยแต่ละวันก็จะเปลี่ยนแปลง แตกต่างกันไป ตามการหมุนเวียนและฝุ่นละออง เมฆฝนตามผิวโลก

การถ่ายรูปแต่ละครั้งผู้ถ่ายต้องอาศัยแสงตามธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ บางครั้งโอกาสในการถ่ายรูปด้วยแสงธรรมชาติก็ไม่สามารถพบเห็นบ่อย ๆ มนุษย์จึงต้องอาศัยแสงประดิษฐ์เพื่อส่องสว่างแทน แสงที่ได้ก็แตกต่างกันไป ผู้ถ่ายจำต้องเรียนรู้ศึกษาให้ถ่องแท้ว่าแสงแต่ละแบบมีผลต่อภาพถ่ายอย่างไร

19 ม.ค. 2555

จิตวิญญานของการถ่ายรูป

ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า ภาพถ่าย ถือว่าเป็นศิลปะประเภทไหน เป็นวิจิตรศิลป์ (Fine Art) หรือประยุกต์ศิลป์ (Applied Art) แต่ถ้าหากเข้าใจในเรื่องศิลปะแล้วเราสามารถแยกแยะว่ารูปไหนเข้าข่ายวิจิตรศิลป์ และรูปไหนเป็นประยุกต์ศิลปะ แล้วก็มีบางภาพเป็นขยะไปเลยทีเดียว ไม่สามารถจัดเป็นศิลปะได้

การถ่ายภาพในยุคดิจิตอลเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย มีโปรแกรมหลากหลายช่วยในการถ่ายภาพ ตกแต่งภาพทำให้ดูดี เพิ่มลูกเล่นต่าง ๆ ความหลากหลายนั้นก็ทำให้ดูเหมือนคุณค่าของภาพถ่ายลดลง โดยที่จริงแล้วศิลปะการถ่ายภาพก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม

คนที่ผ่านการถ่ายรูปด้วยกล้อง D-SLRs มาบ้างแล้วจะรู้ว่าการถ่ายภาพไม่ใช่สิ่งที่ง่าย หากต้องการถ่ายภาพให้สวยงาม ต้องใช้ความคิดตลอดเวลาก่อนที่จะกดถ่ายภาพเท่านั้นถึงจะได้ภาพสวย ๆ แต่หากถ่ายสักแต่ว่าถ่ายไม่คิดอะไรเลยกล้องราคาเรือนแสนก็ไม่ต่างจากกล้องมือถือหรือกล้องราคาหลักพัน

องค์ประกอบภาพ แสง เงา สีสัน เป็นส่วนประกอบหลักที่ทำให้ภาพออกมาดูดีเป็นเอกลักษณ์ ภาพบางภาพหากถ่ายในวันเวลาต่างกันย่อมได้ผลลัพธ์ต่างอย่างเห็นชัด

15 ม.ค. 2555

สายตารับรู้แสงและสีอย่างไร

ตั้งชื่อบทความดูเหมือนจะเป็นข้อมูลทางการแพทย์เสียอย่างนั้น อย่าพึ่งเข้าใจผิดคิดว่าบล็อกนี้เปลี่ยนไปนะครับ แต่เนื่องจากการถ่ายภาพนั้นเป็นเรื่องของ สี แสง เงา และองค์ประกอบ ก่อนที่เราจะลงรายละเอียดเกี่ยวกับสีและแสงเงานั้นเราต้องรู้จักเสียก่อนว่าดวงตามนุษย์นั้นสามารถมองเห็นสีได้อย่างไร

ดวงตาของมนุษย์นั้นเปรียบเหมือนกับเลนส์ของกล้องแต่มีคุณสมบัติพิเศษมากมายเกินกว่าที่เทคโนโลยีในสมัยปัจจุบันจะจำลองออกมาได้ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของระบบร่างกายทำให้มนุษย์มีความสามารถและศักยภาพในการมองเห็น การคิด การเชื่อมโยงต่อไปอย่างไม่รู้จบ

ดวงตาของเราจะมีรวมเอาเลนส์และเซ็นเซอร์มาอยู่ด้วยกันที่เดียวกัน โดย


ที่ผนังดวงตา (Retina) จะมีเซลล์รับแสงและสีอยู่ด้วย เรียกว่า Rods และ Cones โดย Rods จะทำหน้าที่รับรู้ความเข้มของแสง มีจำนวนประมาณ 120 ล้านเซลล์ ส่วน Cones จะทำหน้าที่รับรู้เกี่ยวกับสีมีจำนวนประมาณ 7 ล้านเซลล์ เซ็นเซอร์แสงในดวงตามนุษย์จะมีมากถ้าประมาณเทียบเคียงแบบหยาบ ๆ ก็ 120 MP ทำให้สายตามมนุษย์สามารถแยกแยะระดับการรับแสงได้ดีกว่ามาก โดยเราจะมองเห็นส่วนที่อยู่ในเงามืดได้ดีกว่ากล้องมาก และคุณสมบัตินี้เองที่ทำให้เวลาถ่ายรูปออกมายังไงก็ไม่เหมือนกับที่เราเห็นด้วยสายตา ส่วนเซ็นเซอร์รับสีก็ประมาณ 7 MP เทียบเคียงกับกล้องก็ถือว่าระดับที่ดี และเราจะสามารถแยกแยะความชัดเจนของสีได้ดี แต่สู้การรับรู้ทางความเข้มของแสงไม่ได้ (สำหรับกล้องถ่ายรูปที่เทียบเคียงกับ Rods ได้ก็คือ ISO ที่ทำให้เซ็นเซอร์รับความสว่างของแสงมากหรือน้อย)

สังเกตง่าย ๆ อีกอย่างหนึ่งคือหากเราอยู่ในช่วงเวลากลางคืนเราจะสามารถมองเห็นในที่มืดได้ดี และม่านตาคนเราจะเปิดกว้างมากกว่าเลนส์กล้อง (แต่เคยอ่านเจอที่ไหนไม่รู้ว่าดวงตามนุษย์จะมีค่า f ต่ำกว่า 1 หากพบจะนำมาแก้ไขอีกที) แต่ไปอ่านเจอในเว็บนี้ http://www.photosig.com/articles/585/article เขาบอกว่าสายตามนุษย์มีค่า f/2.1 ในที่มืด และ f/8.3 ในที่สว่าง นี่แหละครับเลนส์ทั่ว ๆ ไปจะชัดใน f/8 นะครับ (ไม่รู้จะเกี่ยวกับหรือว่าบังเอิญเหมือน)



สำหรับ Cones ที่อยู่ใน Retina จะมีลักษณะคล้าย ๆ กับเซ็นเซอร์ของกล้อง (กล้องจำลองไปจากดวงตามนุษย์) มีเซลล์ไวต่อสี RGB กระจายตัวเหมือนในรูป


จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นก็พอทราบแล้วว่าสายตาเราสามารถรับรู้แสงและสีอย่างไร และแสงที่เราเห็นจากธรรมชาตินั้นเป็นแสงสีขาวมาจากแหล่งกำเนิดคือดวงอาทิตย์ เมื่อตกกระทบกับวัตถุต่าง ๆ ที่มีคุณสมบัติสะท้อนแสงแต่ละสีออกมาทำให้เราเห็นเป็นสีต่าง ๆ เช่น
  • วัตถุสีแดง จะดูดสีเขียว และน้ำเงินไว้ แล้วสะท้อนเฉพาะสีแดงออกมา
  • วัตถุสีขาว จะสะท้อนทุกสีออกมาเท่า ๆ กันทำให้แสงเป็นแสงขาวเหมือนเดิม
  • วัตถุสีดำ จะดูดแสงทุกสีไว้ไม่สะท้อนออกมาก
แต่หากสังเกตอีกนิดจะพบว่าวัตถุสีดำดูดแสงไว้ก็ตาม แต่สายตามนุษย์จะสามารถมองเห็นได้โดยใช้คุณสมบัติการรับรู้ความเข้มของแสงมาช่วย ทำให้เราทราบระดับสีดำที่เข้มหรือสว่างได้ดีกว่ากล้องถ่ายภาพ

ไม่รู้ว่าจะพาผู้อ่านเข้าป่ารกชัฎหรือเปล่าก็ไม่รู้ ลองค่อย ๆ ทำความเข้าใจและหากพบว่าผิดพลาดหรือบกพร่องประการใดรบกวนช่วยแนะนำเพื่อให้เนื้อหาสมบูรณ์เพิ่มขึ้นนะครับ... สวัสดีครับ

11 ม.ค. 2555

ก่อนถ่ายรูปควรคิดก่อนว่าจะสื่ออะไร...

ช่วงนี้ได้ทบทวนเรื่องศิลปะอย่างต่อเนื่อง พยายามค้นหาประเภทของการถ่ายภาพ เพื่อจัดหมวดหมู่ตามประเภทของศิลปะ ก็ยังงง ๆ เพราะหลายสำนักต่างก็มีความคิดเห็นต่างกันไป บ้างก็ว่าเป็นพาณิชย์ศิลป์ บ้างก็บอกว่าเป็นทัศนศิลป์ บ้างก็บอกว่าเป็นแค่การบันทึกเหตุการณ์หาใช่ศิลปะ แต่อย่างหลังนี่ก็หมิ่นเหม่ หากใช้กับภาพท่องเที่ยวทั่วไปคงจะระบุได้ แต่สำหรับหลาย ๆ ภาพของหลาย ๆ คนถ่ายออกมาแล้วเป็นเรื่องการถ่ายทอดอารมณ์นั่นก็เข้าหลักเกณฑ์งานศิลปะอีกนั่นแหละ และปัจจุบันนี้ในแวดวงศิลปินจะมีรางวัลศิลปินแห่งชาติสาขาภาพถ่าย ซึ่งก็เป็นการยอมรับว่าการถ่ายภาพเป็นศิลปะชนิดหนึ่ง และคาดว่าในอนาคตน่าจะเป็นศิลปะที่น่าสนใจสาขาหนึ่ง เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว

สำหรับบทความฉบับนี้ผู้เขียนเพียงได้ข้อคิดและแนวทางที่สะสมมาจากการฟัง การอ่าน และต่อเติมเสริมแต่งความคิด (เอาความคิดของคนอื่นมากลั่นกรองใหม่ให้เหมาะสมกับตัวเอง) เพื่อนำมาใช้ก่อนที่จะถ่ายภาพ โดยผู้เขียนจะแยกงานถ่ายภาพออกมาเป็นสองแบบคือ ถ่ายเก็บเหตุการณ์ กับการถ่ายเพื่อสื่อสาร

ความเป็นเอกภาพ (Unity)

ในทฤษฎีศิลปะเรื่องการจัดองค์ประกอบยังมีเรื่องของ ความเป็นเอกภาพ หรือ Unity ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการจัดแสดงเนื้อหาของศิลปะ ความเป็นเอกภาพคือการจัดสรรให้สิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฎให้ลงตัวตามความรู้สึกและสื่อออกมาตามอารมณ์ของผู้นำเสนอ

ความเป็นเอกภาพไม่ได้หมายความต้องต้องเหมือนกันเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะมีความขัดแย้ง หรือเป็นไปในทิศทางเดียวกันก็ได้ แต่ในเมื่อมีความขัดแย้งของวัตถุที่นำเสนอศิลปินต้องจัดให้มีการประสานไม่ว่าจะเชื่อมโยงโดยใช้ สี เส้น แสง เงา เพื่อเป็นตัวเชื่อให้ความขัดแย้งนั้นดูมีจังหวะและลีลา

ความเป็นเอกภาพนี้ยังทำให้เนื้อหาที่ต้องการสื่อเป็นเรื่องราวเดียวกัน และไม่แตกแยกเรื่องราวออกไป ถึงแม้จะมีความหมายร้อยพัน แต่ก็เป็นเอกภาพเดียวกัน

หลัก ๆ แล้วเอกภาพแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
  1. เอกภาพการแสดงออก - เป็นความลงตัวของเนื้อหาที่ศิลปินต้องการสื่อ
  2. เอกภาพด้านรูปทรง - เป็นความลงตัวของ เส้น แสง เงา รูปร่างในงานที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

9 ม.ค. 2555

ส่วนประกอบของศิลปะ

บทความนี้จะกล่าวถึงพื้นฐานเกี่ยวกับส่วนประกอบของศิลปะ ซึ่งเป็นขั้นมูลฐาน (The Element of Art) ผู้สนใจการถ่ายภาพควรรู้จักเป็นเบื้องต้นเสียก่อน และควรทำความเข้าใจให้เป็นหลักการที่อยู่ในใจ และซึมซับไปถึงอารมณ์ของตน ไม่ใช่เรียนรู้เพียงเป็นทฤษฎีแล้วนำไปกล่าวอ้างกับคนอื่นเพื่อให้คนอื่นเข้าใจว่ารู้จัก เพราะคำว่ารู้จักนั้นควรเกิดจากการรับรู้ที่ลึกซึ้งหรือเรียกว่า พุทธิปัญญา (Cognition) และบทความก่อนหน้าเราเข้าใจถึงคำว่า ศิลปะ พอเป็นปฐมบทแล้วต่อไปนี้จะกล่าวถึงส่วนประกอบของศิลปะตามแบบฉบับคนนอกวงการศิลป์ บทความนี้จะเรียกองค์รวมของศิลปะว่า ส่วนประกอบ จะได้ไม่สับสนกับคำว่า องค์ประกอบของภาพ

ส่วนประกอบของศิลปะ (The Element of Art)
หากสังเกตงานศิลป์ที่มีอยู่ทุกวันนี้จะประกอบไปด้วย เส้น (Line) รูปร่าง (Shape) ลักษณะ (Form) ช่องว่าง (Space) พื้นผิว (Texture) สี (Color) คุณค่า (Value)

8 ม.ค. 2555

รู้จักศิลปะ

บล็อกนี้ขอพักเกี่ยวกับการถ่ายรูปเบื้องต้นมาคุยเรื่องศิลปะกับการถ่าย ภาพกันสักนิด... และออกตัวก่อนว่าผู้เขียนไม่ได้เชี่ยวชาญด้านศิลปะชนิดหาตัวจับยาก แต่อาศัยประสบการณ์ความรู้สึกนึกคิด ความอ่อนไหวตามธรรมชาติมากล่าวถึงศิลปะ เรียกได้ว่า มุมมองศิลปะจากบุคคลภายนอก ที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงศิลปินชั้นแนวหน้า

ศิลปะ... หมายถึงอะไร?
ศิลปิน... หมายถึงใคร?

(สืบ เนื่องจากไปแสดงความคิดเห็นในเว็บบอร์ดแห่งหนึ่งแล้วมีข้อคิดที่ขัดแย้งซึ่ง ยังเป็นมุมมองที่มองเพียงเหตุเดียว - เอกังสวาท, จึงเป็นที่มาของบทความนี้เพื่อแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของศิลปะและการถ่าย ภาพ สำหรับมือใหม่ที่จะเริ่มต้นเรียนรู้การถ่ายภาพเพื่อถ่ายทอดความรู้สึก นึกคิด)

เมื่อย้อนไปสมัยก่อนพุทธกาลในยุคที่ยังไม่มีศาสนา มนุษย์มีความเชื่อเรื่องความลึกลับจะดลบันดาลให้เกิดเหตุ เภทภัยต่าง ๆ จึงพากันหาทางออกเพื่อให้พ้นจากภยันตราย หนึ่งในนั้นก็คือการบูชาสิ่งรี้ลับ ตามความเชื่อ และภูมิความรู้ในชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง