1 ก.พ. 2556

f, s และ iso ในการใช้แฟลชเกี่ยวกันอย่างไร

การถ่ายภาพแต่ละครั้งสิ่งที่ควรอยู่ในหัวสมอง ต้องคิดอยู่เสมอคือ คุณภาพของแสง ทิศทางของแสง ความเปรียบต่างของแสง ความเข้มของแสง เหตุการณ์และอุณหภูมิสี สิ่งเหล่านี้ถึงแม้จะไม่สามารถควบคุมให้ได้ดั่งใจอยู่เสมอ แต่ก็ควรจะมีให้มากที่สุด และแสงที่ดีที่สุดสำหรับถ่ายภาพคือแสงธรรมชาติ แต่ใช่ว่าจะให้เราได้ทุกวันเวลา เพราะธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลงทุกช่วงเวลา และหากไม่มีแสงธรรมชาติก็ต้องใช้แสงประดิษฐ์นั่นคือ ไฟสำหรับถ่ายรูปต่าง ๆ ที่ใช้กันบ่อยและมีได้ง่ายคือ แฟลช

หลายคนที่ถ่ายรูปมานาน ๆ ถ้าไม่ใช่ประเภทรับถ่ายอีเวนต์หรืองานพิธีต่าง ๆ จะรู้สึกเหมือนกันคือแทบไม่ได้ใช้แฟลชเอาเสียเลย โดยเฉพาะกล้องรุ่นใหม่ ๆ นี่สามารถใช้ ISO ได้สูง ๆ ทำให้ภาพไม่สั่นไหว แต่แลกมาด้วย Noise หรือความสดใสของสีลดลง แต่ใช่ว่าจะเป็นอุปสรรคเพราะโปรแกรมตกแต่งรูปสมัยนี้ทำได้ดีกว่าสมัยก่อนมากไม่รู้กี่เท่า

แล้วเมื่อต้องใช้แฟลชก็สะเปะสะปะ ถ่ายทีกว่าจะปรับให้ลงตัวได้ก็เล่นเอาเสียเวลาไปนานแสนนาน (ออกตัวก่อนว่าไม่ใช่มืออาชีพด้านการใช้แฟลช) บทความนี้จึงขอนำเอาเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับการปรับแฟลชเพื่อถ่ายภาพ

องค์ประกอบสำคัญสำหรับการถ่ายภาพด้วยแฟลชคือ การเปิดหน้าเลนส์ (f) การปรับความเร็วชัตเตอร์ (s) และความไวแสง (ISO)

องค์ประกอบ 3 อย่างสัมพันธ์กันในทิศทางตรงข้ามและทิศทางเดียวกัน (อ่านเพิ่มเติมใน รู้จัก ISO Aperture และ SpeedShutter )


เมื่อเปิดหน้าเลนส์กว้างขึ้นทำให้แสงผ่านเลนส์มากขึ้น ถ้ามากเกินไปก็สามารถปรับลด Speed Shutter หรือ ISO ลง แต่ขอแนะนำให้หาทางปรับลด ISO ให้น้อยที่สุดก่อน เพราะเรื่องคุณภาพของไฟล์ และ ISO เป็นสิ่งสุดท้ายที่จะเพิ่ม คือโอกาสที่อยากได้ภาพจริง ๆ และแสงไม่อำนวยจึงต้องปรับ ISO ให้สูงเข้าไว้

แล้วถ้าใช้แฟลชล่ะจะปรับ 3 อย่างนี้อย่างไร?

หากใช้ระบบ TTL (Through The Lens) แล้ว ก็ไม่ต้องห่วงจะปรับอย่างไรแสงก็กระทบตัวแบบเท่าเดิม (บางคนบอกว่าไม่วาจะใช้ความไวของชัตเตอร์มากน้อยแค่ไหนก็ไม่มีผลต่อภาพ จริง ๆ แล้วมีผลในความเร็วที่ต่ำและสูง ๆ โดยมีข้อแม้ว่าควรจะอยู่ใน 1/15s ถึง 1/250s เพราะหากมากกว่านี้จะทำให้มีผลต่อภาพเหมือนกัน)

แต่ถ้าใช้แฟลชแยกล่ะ?

แฟลชแยกถ้าเป็นแบบมีสายซิงค์ก็ไม่มีปัญหาอีกเช่นกัน มันเพียงแต่ต่อพ่วงสายให้ยาวมากขึ้นหรือเป็นทริกเกอร์ชนิด TTL ก็ง่ายอีกเช่นกัน แต่ปัจจุบันนี้ราคาทริกเกอร์ชนิด TTL ราคายังแพงอยู่มาก (ล่าสุดเห็นมียี่ห้อ YongNuo YN-622C ราคาไม่แพงแต่ใช้สำหรับ Canon เท่านั้น)

สำหรับผู้ใช้แฟลชแยกแล้วหากยังใช้ TTL ก็ได้เฉพาะแสงพอดี แต่จะเพิ่มลูกเล่นอะไรมากมายไม่ได้ ดังนั้นหากเล่นแฟลชแยกแล้วต้องกำหนดเองถึงจะได้แสงตามต้องการ, แล้วจะกำหนดอย่างไร ต้องเรียนรู้อะไรก่อนหลัง

ผู้เขียนขอแนะนำง่าย ๆ เบื้องต้นสำหรับผู้เริ่มเรียนรู้ก่อนว่า ควรรู้จักผลกระทบระหว่าง f, s และ ISO ก่อนง่าย ๆ ในการใช้แฟลชก่อนดังนี้

f เมื่อปรับแล้วมีผลต่อแสงที่กระทบกับแบบโดยตรง และส่งผลให้กับสิ่งแวดล้อมคือฉากหลังด้วย, s เมื่อเปลี่ยนแล้วมีผลต่อฉากหลังหรือแสงแวดล้อมมีผลต่อแสงกระทบแบบบ้างในกรณที่ปรับมากหรือน้อยเกินไป ส่วน ISO มีผลต่อแสงที่กระทบกับแบบและแสงรอบข้างด้วย

 จากหลักการดังกล่าวข้างบน วิธีการประยุกต์ใช้คือ หากแสงที่แบบน้อยไปก็เปิดหน้าเลนส์ให้กว้างขึ้น แต่ถ้ายังกว้างไม่พอก็ปรับ ISO เพิ่ม ส่วน s นั้นมีผลต่อแสงรอบข้างจะกำหนดเท่าใดล่ะ?

ในการใช้แฟลชของผู้เขียนแต่ละครั้งจะขึ้นอยู่กับเลนส์ด้วย เช่น ใช้ EF-135mm อย่างไรเสียก็ใช้ 1/125-1/250s อยู่แล้ว เพราะมิฉะนั้นจะได้ภาพเบลอ ๆ มาแทน ถึงใครจะบอกว่าใช้แฟลชแล้วสปีดต่ำ ๆ ก็ชัดขึ้นก็ตามเถอะ เพราะเบลอจากการสั่นไหวมันเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ

ถ้าใช้เลนส์ ef-28mm  หรือ ef 17-40 ก็ใช้ 1/20-1/60s ทำให้สามารถเก็บแสงแวดล้อมได้ (ใช้สปีดที่ 1/30s เป็นค่าที่เหมาะสำหรับการเก็บสภาพแสงแวดล้อมนิยมเรียกว่า Low-Speed Sync) ภาพโดยรวมจะสว่าง และที่แบบจะใสเคลียร์ด้วยแฟลช อาจจะมีขอบ ๆ เบลอ ๆ เล็กน้อยยังอยู่ในวิสัยที่รับได้

::: ทิศทางของแสงกับแฟลชแยก
สาเหตุที่หลายคนใช้แฟลชแยกก็เพราะทิศทางของแสงเป็นหลัก เนื่องจากแฟลชที่ติดกับกล้องทำให้แสงพุ่งไปตกกระทบที่ตัวแบบตรง ๆ แต่ช่างภาพต้องการแสงแบบธรรมชาติคือมีลักษณะเฉียง ๆ จะมากน้อยแค่ไหนก็แล้วแต่ความต้องการ ปกติก็ 45 องศาทำให้เกิดเงาที่สวยงามไม่ว่าเงานั้นจะแข็งหรือนุ่มก็ตาม

ดังนั้นเมื่อใช้แฟลชแยกแล้วก็ควรหาขาตั้งแฟลชให้เหมาะสมเสียเลย แนะนำให้ซื้อขาตั้งแบบตั้งไฟโดยตรง ถึงแม้ว่าจะสามารถใช้ขาตั้งกล้องมาประยุกต์แทนก็เถอะ เพราะมันไม่สะดวก และเสี่ยงต่อความเสียหายต่าง ๆ

::: ควรใช้แฟลชกี่ชุด
ถ้าต้องการแสงสวยงามตามหลักการจัดแสงแล้วอย่างน้อยควรมีสองชุดคือ ไฟหลักและไฟเสริม ถ้าต้องการให้สวยงามมากขึ้นก็มีอีกชุดหนึ่งส่องด้านหลังไม่ว่าจะเป็นหลังตัวแบบหรือฉากหลังก็ได้เพื่อแยกตัวแบบออกจากฉากหลัง กรณีที่ถ่ายนางแบบ/นายแบบอาจจะมีไฟส่องศีรษะเพื่อเน้นเส้นผมอีกก็ได้

สรุปง่าย ๆ ก็คือต้องมีแสง 2 ชุดเป็นอย่างน้อย บางคนสงสัยอ้าว! เคยเห็นคนใช้แฟลชชุดเดียวถ่ายนางแบบเพื่อเปิดหน้าให้สว่างโดยถ่ายกับดวงอาทิตย์เป็นฉากหลังยังสวยงามเลย แค่ใช้แฟลช 1 ชุด

ใช่ครับ ใช้แฟลชเพียง 1 ชุด แต่มีแสงเสริมอีก 1 ชุดคือแสงจากธรรมชาตินั่นไงครับ หรือจะลองดูก็ได้หากไม่มีแสงส่องมาด้านหลังตอนกลางคืน ภาพที่ได้คือหน้านางแบบขาวปกติ แต่ผมเสื้อผ้าอาจจะมืดหายไปเลย

ซึ่งถ้าไม่มีแสงธรรมชาติเลยหรือไม่เพียงพอต้องใช้แฟลชอีก 1 ชุดส่องมาจากด้านหลังที่ตากล้องนิยมเรียกว่า แสงริมไลท์ นั่นแหละครับ

ตัวอย่างภาพที่ใช้แฟลชริมไลท์และมีแสงธรรมชาติให้ฉากหลังสว่าง (ใช้แฟลช 2 ด้านหน้าและส่องหลัง)

ใช้แฟลช 2 ชุดด้านข้างและเฉียงฝั่งตรงข้าม


::: Hi-Speed Sync ดีอย่างไร
หลายคนคงเคยได้ยินว่าถ่ายรูปใช้แฟลชแบบ Hi-Speed Sync (HSS) แล้วมันดีอย่างไร เพราะราคาทริกเกอร์แบบนี้สูงเอาการ

ดีเพราะสามารถประยุกต์ใช้ได้หลากหลายทำให้ภาพดูดีขึ้น ปกติกล้องเราจะใช้แสงได้ที่ความเร็วชัตเตอร์ 1/160s, 1/200s และ 1/250s ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ทั้งกล้องและแฟลช

ถ้าใช้งานตามปกติเพื่อเน้นให้ได้รูปก็ไม่ค่อยมีปัญหามีผลสักเท่าใด แต่ลองคิดตามว่า เวลาเที่ยงวันเป็นเวลาที่ตากล้องหลายไม่ค่อยชอบ (ตั้งแต่ 10-15.00 น.) เพราะเป็นระยะเวลาที่แสงเงาแข็งกระด้างไม่ซอฟท์นุ่มนวล โดยเฉพาะเวลาถ่ายบุคคลจะทำให้มีเงาบริเวณดวงตาใต้ของผม ใต้คาง ตามลำตัว และหากเราต้องการลบเงาเหล่านี้ต้องเปิดแฟลชเพื่อช่วยลบเงา

ช่วงเวลากลางวันหากถ่ายบุคคลต้องใช้ f กว้าง ๆ ดันความเร็วชัตเตอร์สูง ๆ เพื่อให้ได้ฉากหลังเบลอสวยงาม นั่นหมายความว่าต้องใช้ความเร็วไม่ต่ำกว่า 1/350s เป็นต้นไป ยิ่งถ้าเลนส์ไหนเปิดหน้ากล้องได้มากถึง f/1.4 และใช้ f/1.4 แล้วความเร็วชัตเตอร์วิ่งไปสูงถึง 1/8000s หรือไม่ได้เลยก็มี

แล้วจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเปิดแฟลชเสริมโดยเฉพาะแฟลชหัวกล้องที่ใช้ความเร็วได้ที่ 1/250s

ภาพทั้งหมดจะขาวโพลนจนมองไม่เห็นอะไรเลย...

เพราะความเร็วชัตเตอร์จาก 1/8000s จะเหลือ 1/250s ลดลงมาทีเดียว 5 stop ทำให้แสงมากกว่าเดิม 5 เท่า สิ่งที่ทำได้คือลบทิ้งอย่างเดียว แล้วปรับความเร็วไปที่ 1/250s และเปิดหน้ากล้องให้แคบลงไปอีก 5 stop นั่นจะได้ค่า f ที่ f/11 โดยประมาณ แล้วฉากหลังที่ละลายหายไปด้วย f/1.4 ตอนนี้ก็ชัดทะลุ และแสงก็จะพอดีทั้งหน้านางแบบและฉากหลัง... แล้วภาพอย่างนี้จะทำอย่างไร

Hi-Speed Sync เป็นคำตอบเดียวที่ช่วยได้

ปกติแล้วแฟลชแยกรุ่นใหม่ ๆ เมื่อใช้ติดกับกล้องจะสามารถใช้งาน High-Speed Sync ได้แต่ต้องปรับตั้งค่าด้วย แต่ถ้าแยกออกมาเป็นรีโมทแฟลชก็จะลดเหลือ 1/250s เท่านั้น และหากจะใช้ทริกเกอร์แยกก็ราคาสูงมาก ยี่ห้อดัง ๆ ราคาตัวละ 4-5,000 นั่นหมายความว่าซื้อทีจะใช้ได้แฟลช 1 ตัว ราคาทั้งตัวรับและตัวส่งต้องใช้เงินเกือบ 1 หมื่นบาทเลยทีเดียว แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ต้องสร้างสรรค์ผลงานก็คุ้มเป็นการสร้างมูลค่าในการถ่ายภาพได้เป็นอย่างดี

::: การสร้างภาพแปลกๆ ด้วยแฟลชแยก
นอกจากจะเปิดตัวแบบให้แสงสวยงามแล้วยังสามารถ ประยุกต์ใช้เช่น ต้องการถ่ายย้อนแสงดวงอาทิตย์สาดส่องต้นไม้ให้เป็นแฉกสวย ๆ ต้องเปิด f อย่างน้อย f/11 ขึ้นไป ยิ่งมากยิ่งสวย ... แต่การใช้ f สูง ๆ แบบนี้ทำให้แสงที่หน้านางแบบมืดไปด้วย จะได้ภาพเงาดำ มาแทน แต่ถ้าใช้แฟลชฟิลเข้าไปเพื่อเปิดให้ฉากหน้าสว่างขึ้น บางครั้งแยกแฟลชแล้วปรับ f แคบจนหมดแล้วก็ยังไม่มืดพอคือท้องฟ้าขาวโพลนไปหมด (เลนส์บางตัวได้แค่ f/16 สูงสุดแล้ว) ต้องปรับ s ให้มากขึ้นก็ติดที่ 1/250s ก็ต้องแก้ไขด้วย Hi-Speed Sync นี่แหละ...

ภาพหยุดความเคลื่อนไหว อาจจะใช้ทั้งแฟลชแยกหรือติดหัวกล้อง (ส่วนใหญ่ก็นิยมติดหัวกล้อง) ตามปกติแบบบางชนิดที่เคลื่อนด้วยความเร็วไม่มาก ความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 1/125s หรือ 1/250s ก็สามารถหยุดความเคลื่อนไหวได้ แต่บางอย่างที่เคลื่อนไหวเร็วเช่น นก บินผ่านหน้ากล้องนี่ 1/1000s ขึ้นไปเลยทีเดียว แต่แฟลชก็ไม่ทำงานอีก มีหลายตัวต้องการ f น้อยก็ไม่ได้อีก ปัญหาก็แก้ด้วย High Speed Sync นี่อีกเช่นกัน...

ข้อความทั้งหมดนี่เป็นเพียงหลักการไม่ได้มีอะไรที่เป็นรูปแบบแน่นอนตายตัว สามารถปรับประยุกต์ใช้แล้วแต่ความถนัด เพราะบางคนแค่แฟลชป๊อบอัพติดกล้องมาก็ถ่ายได้สวยแล้ว แต่ไม่ใช่ทุกสถานการณ์ เพราะสินค้าแต่ละอย่างเขาออกแบบมาเพื่อให้ใช้งานเฉพาะด้านหรือครอบคลุมมากขึ้น และแลกด้วยราคาที่สูงขึ้น... จึงหวังว่าข้อคิดขั้นพื้นฐานเหล่านี้จะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการถ่ายภาพยิ่ง ๆ ขึ้นไปไม่มากก็น้อยนะครับ... สวัสดีครับ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น