21 พ.ย. 2557

จบหลังกล้องหรือหน้าคอมฯ

จำได้ว่าเริ่มจับกล้องถ่ายรูปแบบจริงๆ จังๆ ด้วย SLR ครั้งแรกเมื่อปี 2546 ด้วยกล้อง FM2n มือสองซื้อมาราคา 13,000 บาท ถือว่าได้ในราคาไม่ถูกนัก แต่สมัยนั้นกล้อง Manual ที่เป็นกลไกลที่ดีตัวหนึ่งเลยทีเดียว ถ่ายด้วยฟิล์มทั้งสี ขาวดำ และสไลด์ ตามประสามือใหม่หัดถ่าย

ยุคนั้นกล้องดิจิตอลยังเป็นเรื่องขบขัน ยังไงก็สู้ฟิล์มสไลด์ไม่ได้ แต่การนำเข้าคอมพิวเตอร์สมัยนั้นก็ยากพอควร ต้องสแกนรูปก่อน หรือจะให้ดีต้องสแกนฟิล์ม สแกนสไลด์ แล้วนำมาแสดงในเว็บบอร์ด

ต่อมาอีกสองปี กล้องดิจิตอลเริ่มเป็นที่นิยม ถ่ายแล้วนำไปใช้ในคอมพิวเตอร์ได้ทันที ผู้เขียนเองก็ซื้อ Kodak คอมแพคดิจิตอลมาใช้เหมือนกัน สนุกสนานกับการถ่ายภาพ และนำมาลงคอมพิวเตอร์พอสมควร แต่อย่างไรก็ตาม ความเป็น DSLR หรือ SLR ยังคงเป็นกล้องในใจของผู้เขียนและนักถ่ายภาพอีกหลายคนเสมอ

การถ่ายภาพในยุคแรกนั้นต้องอาศัยประสบการณ์ ฝีมือในการวัดแสง การปรับโฟกัส และสุดท้ายฝากความหวังกับการล้างอัดภาพอีกครั้งหนึ่ง

ความคุ้นเคยของคนถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มจึงเป็นการถ่ายและจบในกระบวนการเดียว คิด ปรับแต่ง สร้างมุมมอง แล้วถ่าย จบแล้วจบเลย จะดีหรือไม่ก็ต้องรอลุ้นตอนไปล้างและอัด กระบวนการนี้คือ จบหลังกล้องของแท้ ที่หลายคนในปัจจุบันยังยึดติด ยึดมั่นถือมั่น และนำมาพูด แสดงความคิดเห็นต่อๆ กันมา และที่น่าขำคือ คนรุ่นใหม่ไม่เคยจับกล้องฟิล์มมาก่อนยังใช้คำว่า "จบหลังกล้อง" เพื่ออวดว่าตนมีฝีมือ ทั้งที่ปัจจุบัน คือ ยุคดิจิตอล เป็นยุคที่อำนาจอยู่หน้าจอ ไม่ใช่หลังกล้องอีกต่อไป...

ปัจจุบันกล้อง DSLR ทำได้ดีจนทำให้กล้องฟิล์มล้มหายตายจากวงการอย่างถาวร ความสามารถที่สูงขึ้น จนทำให้คนใช้สามารถถ่ายภาพดีๆ สวยๆ ออกมาได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ถ่ายแล้วกดดูภาพได้ทันที ไม่พอใจก็ลบทิ้งและถ่ายใหม่ มีโอกาสแก้ไขได้ตามต้องการ

แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะทำได้และมีโอกาสในการถ่ายภาพได้อย่างใจคิดเสมอไป เพราะการถ่ายภาพ คือ เงื่อนไขของ แสง จังหวะ เวลา และโอกาส สิ่งเหล่านี้ต้องลงตัว ต้องพอดีในเวลา จังหวะที่เหมาะสม แต่การจัด แสง ให้เข้ากับ องค์ประกอบ ในจังหวะและโอกาสที่เหมาะสม โดยมีเงื่อนไขเวลาที่จำกัดเข้ามาเป็นตัวแปรอีก ทำให้โอกาสการได้ภาพตามที่ต้องการยากมาก

ดังนั้นการแก้ไข ตกแต่งภาพจากคอมพิวเตอร์จึงเป็นทางเลือกที่จะนำมาแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี แต่ใช่ว่าโปรแกรมเหล่านั้นจะมีสำหรับการแก้ไขภาพเท่านั้น ช่างภาพสามารถนำมาเพิ่มเติมปรับปรุง ภาพให้ดูดี โดดเด่นตามที่ตนเองต้องการได้

โปรแกรมที่ง่ายที่สุดอยากแนะนำ คือ Adobe Camera RAW เป็นโปรแกรมที่มาพร้อมกับ Photoshop ที่เรียบง่าย ใช้ง่ายได้ง่าย แต่หลังๆ ไม่ได้รับความสำคัญจาก Adobe สักเท่าใด เพราะถูกผลักดันให้ไปใช้ Adobe Light-room แทน

อย่างภาพที่นำมาเป็นตัวอย่างนี้ ภาพก่อนทำก็เป็นภาพที่ถ่ายธรรมดาทั่วไป แต่ดูจากภาพแล้ว เด็กที่อยู่ฉากหลังไม่ครบ ภาพที่ได้เด็กครบ เด็กน้อยที่อยู่ด้านหน้าก็แสดงสีหน้าไม่สวยงาม ครั้งจะให้ทั้งสองอยู่ในจังหวะพอดีก็ยากเหลือเกิน ตามรูปแบบการถ่ายภาพเด็ก ประกอบกับอยากได้ภาพเด็กในมุมมองคล้ายการจัดแสง ก็ต้องพึ่งพาการตกแต่งใน ACR นี่แหละ

วิธีการก็ปรับเพิ่มเงา (Shadow) และ สีดำ (Back) ให้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่พอที่จะทำให้ฉากหลังเป็นสีดำได้ และมีเสื้อและสีอื่นๆ แทรกเข้ามา ก็ต้องปรับลดสี ใช้แปรงลบภาพส่วนเกินออก

สุดท้ายใช้ Oval เพื่อปรับภายนอกวงกลมให้มืดลงอีก และวางจุดศูนย์กลางไว้ตรงแก้มเด็ก พร้อมปรับวงรีให้เอียงตามทิศทางของแสง เพื่อเน้นทิศทางแสงมากขึ้น

ทั้งหมดนี้ปรับใน ACR เท่านั้นไม่ได้ปรับต่อใน Photoshop เลย โปรแกรมนี้สามารถส่งออกเป็นไฟล์ JPG และปรับขนาดตามต้องการได้ หรือจะส่งต่อไปยัง Photoshop อีกทีเพื่อแต่งภาพเพิ่มเติมก็ได้

วิธีการปรับแต่งนี้เหมือนการปรับแต่งใน LR เพียงแต่หน้าจอง่ายๆ ไม่ซับซ้อน



จากตัวอย่างง่ายๆ นี้จะเห็นได้ว่า การปรับแต่งภาพให้เป็นไปตามความต้องการของเรา เป็นการสร้างรูปภาพที่มีความแตกต่าง โดดเด่นจากภาพธรรมดา มากยิ่งขึ้น สำหรับผู้เขียนแล้วถือว่าเป็นการสร้างโอกาสในการได้ภาพมากกว่า จึงไม่แปลกใจเลยที่ผู้เขียนจะเลือกถ่ายภาพด้วย RAW ไฟล์ แล้วแต่งภาพ ปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมภายหลัง เพราะมันทำได้อย่างที่เราต้องการ...

สำหรับตากล้องมือใหม่ ก่อนที่จะกล่าวว่า จบหลังกล้องดีกว่าจบหน้าคอมฯ นั้นก็ควรพิจารณาให้ดี และเปิดใจให้กว้าง จริงอยู่การวัดแสงปรับแสง ปรับอุปกรณ์ให้ดี จัดองค์ประกอบ ถ่ายภาพให้ดีแต่แรกนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าได้การปรับแต่งในคอมพิวเตอร์ช่วยอีกแรงหนึ่ง ก็คงเหมือน เสือติดปีก ที่ทำให้หลุดพ้นจากข้อจำกัดนั่นเอง...

นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ผู้เขียนเลือกจบหน้าคอมฯ มากกว่าจะจบหลังกล้องเพียงอย่างเดียว...  สวัสดีครับ


ตัวอย่างด้านล่างนี้ จบหน้าคอมฯ ทุกภาพครับ...





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น