9 ม.ค. 2555

ส่วนประกอบของศิลปะ

บทความนี้จะกล่าวถึงพื้นฐานเกี่ยวกับส่วนประกอบของศิลปะ ซึ่งเป็นขั้นมูลฐาน (The Element of Art) ผู้สนใจการถ่ายภาพควรรู้จักเป็นเบื้องต้นเสียก่อน และควรทำความเข้าใจให้เป็นหลักการที่อยู่ในใจ และซึมซับไปถึงอารมณ์ของตน ไม่ใช่เรียนรู้เพียงเป็นทฤษฎีแล้วนำไปกล่าวอ้างกับคนอื่นเพื่อให้คนอื่นเข้าใจว่ารู้จัก เพราะคำว่ารู้จักนั้นควรเกิดจากการรับรู้ที่ลึกซึ้งหรือเรียกว่า พุทธิปัญญา (Cognition) และบทความก่อนหน้าเราเข้าใจถึงคำว่า ศิลปะ พอเป็นปฐมบทแล้วต่อไปนี้จะกล่าวถึงส่วนประกอบของศิลปะตามแบบฉบับคนนอกวงการศิลป์ บทความนี้จะเรียกองค์รวมของศิลปะว่า ส่วนประกอบ จะได้ไม่สับสนกับคำว่า องค์ประกอบของภาพ

ส่วนประกอบของศิลปะ (The Element of Art)
หากสังเกตงานศิลป์ที่มีอยู่ทุกวันนี้จะประกอบไปด้วย เส้น (Line) รูปร่าง (Shape) ลักษณะ (Form) ช่องว่าง (Space) พื้นผิว (Texture) สี (Color) คุณค่า (Value)



1. เส้น - ความหมายตามเรขาคณิตคือเซ็ตของจุดที่วางเรียงกันอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดเส้นชนิดต่าง ๆ ตามรูปแบบ แต่อาจารย์ศิลป์ พีระศรีได้ให้นิยามของคำว่าเส้นได้น่าสนใจมากคือ
เส้น หมายถึง ขอบเขตแห่งระวางเนื้อที่ ซึ่งมีความสัมพันธ์ระหว่างเส้นและระวางเนื้อที่ หากเส้นเหล่านี้มีลักษณะถูกต้องปราณีต ประสานกันอย่างกลมกลืนจะมีผลให้ดูงดงาม ไม่ขัดตา
ลักษณะของเส้นในรูปแบบต่าง ๆ (ภาพจากเว็บ www.mew6.com)

ปกติเราจะใช้เส้นในการกำหนดขอบเขต ให้น้ำหนักหรือกำหนดความรู้สึก โดยเส้นจะมีทิศทาง ขนาด รูปร่างที่แตกต่างกันออกไป และแต่ละรูปแบบจะมีความหมายในตัวดังนี้
  1. เส้นแย้ง - เป็นการนำเอาเส้น 2 เส้นมาจัดเข้าในแนวนอนหรือแนวตั้ง โดยก่อให้เกิดรูปร่างและการแบ่งเนื้อหาขึ้น
  2. เส้นซิกแซก - ให้ความหมายในลักษณะความเคลื่นไหวมีระเบียบ ไม่ราบเรียบ รุนแรง
  3. เส้นตั้งตรง - แนวตั้งให้ความรู้สึก หนักแน่น มั่นคง ซึ่งตรง แนวนอนให้ความรู้สึกราบเรียบ สงบ ผ่อนคลาย 
  4. เส้นเฉียง - ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหว ไม่มั่นคง โอนเอน ไม่ซึ่อตรง อ่อนไหว
  5. เส้นโค้ง - แบบคลื่นให้ความรู้สึกเคลื่อนไหวช้า ๆ ต่อเนื่อง ลื่นไหล นุ่มนวล แบบก้นหอยให้ความรู้สึกขมวดปม หรือคลี่คลายของปัญหา
  6. เส้นประ - ให้ความรู้สึกขาดตอนไม่ต่อเนื่อง เว้นวรรค
ด้านบนแสดงให้เห็นถึงความหมายของเส้นในความรู้สึก และเป็นตัวแทนความคิดของบุคคล ซึ่งไม่ตายตัวแน่นอน แต่ก็คล้าย ๆ กัน
รูปนี้ผู้เขียนถ่ายไว้เมื่อคราวไปทำบุญที่อ่างทอง เส้นแนวตั้งที่ปรากฎช่วยเสริมให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการกระทำของแบบ
ภาพนี้มีเส้นตรงที่แบ่งพื้นที่โดยปริยายทำให้เกิดความรู้สึกเป็นสัดส่วน

2. รูปร่าง (Shape) -เนื้อที่ของสี เส้น แสงและเงา ปกติก็แบ่งหยาบ ๆ เป็น รูปร่างลักษณะเหลี่ยม โค้ง มน กลม เว้า นูน แต่จริง ๆ แล้วก็รูปแบบที่ประกอบด้วย สี เส้น แสงและเงา ทั้งสิ้น รูปร่างหลัก ๆ แล้วประกอบด้วยรูปแบบดังนี้
  1. รูปร่างตามธรรมชาติ (Natureal Shape) - เป็นรูปร่างที่เกิดขึ้นตามการปรุงแต่งของธรรมชาติที่พบเห็นรอบตัวเรา ซึ่งสัมพันธ์กับภูมิประเทศ เช่น ต้นไม้ ใบหญ้า ภูเขา เป็นต้น
  2. รูปร่างแบบนามธรรม (Abstract Shape) - เป็นรูปร่างที่เปลี่ยนไปจากเดิมแต่ยังเหลือเค้าโครงเดิมหรือเข้าใจว่าเดิมเป็นอย่างไร
  3. รูปร่างไม่มีเนื้อหา (Non-objective Shape) - เป็นรูปร่างที่ไร้ความหมาย ไม่ก่อให้เกิดความหมาย โดยรูปร่างชนิดนี้ไม่ได้เป็นการถ่ายทอดมาจากแบบใด ๆ หากแต่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่น รูปร่างของก้อนเมฆ รูปร่างของคลื่นในน้ำ เป็นต้น
  4. รูปร่างทรงเรขาคณิต (Geometric Shape) - เป็นรูปร่างของวัตถุที่เกิดจากเส้นตรง เส้นเหลี่ยม เส้นโค้ง มีทั้งมนุษย์สร้างขึ้นและเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
ภาพนี้ประกอบด้วยรูปร่างทั้งไม่มีเนื้อหา และรูปร่างตามทรงเรขา
 3. ลักษณะ (Form) - เป็นรูปแบบภายนอกที่เกิดจากสี แสง และเงา โดยมีเส้นหรือรูปร่างประกอบ ถ้ารูปทรงมีปริมาตรก็ทำให้เกิดภาพเชิง 3 มิติได้ โดยลักษณะนี้สามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติหรือการสรรค์สร้างก็ได้
แนวคิดของศิลปะรุ่นใหม่ ศิลปะ คือ การถ่ายทอดความรู้สึกออกมาเป็นรูปทรง (Form)

 3. ช่องว่าง (Space) - ช่องว่างหรือช่องไฟ เป็นองค์ประกอบของศิลปะ เป็นการจัดวาง เส้น รูปร่าง ลักษณะ แสงและเงา ให้ลงตัวพอเหมาะ ทำให้เกิดความงาม สมสัดส่วน
การจัดช่องว่างหรือช่องไฟทำให้สิ่งที่จะสื่อออกมามีความลงตัวมากยิ่งขึ้น
4. พื้นผิว (Texture) - พื้นผิวเป็นคุณลักษณะของวัตถุ ซึ่งเมื่อได้รับแสง-เงาอย่างเหมาะสมจะทำให้เกิดความสวยงาม และพื้นผิวแต่ละแบบก็สะท้อนแสงแตกต่างกัน นักถ่ายภาพนอกจากจะถ่ายภาพทั่วไปแล้วยังต้องคอยมองหาพื้นผิวที่สวยงามมาแสดงออกให้เป็นศิลปะ ลักษณะที่นำเสนอสื่อให้เห็นถึงความรู้สึก
ภาพนี้ผู้เขียนถ่ายเพราะเห็นสีของหมากบนกระดาน และพื้นผิวโต๊ะเกรอะกรังด้วยคราบน้ำมันฝังแน่น
5. สี (Color) - ศิลปะกับการใช้สีเป็นของคู่กัน แต่การเลือกใช้สีอย่างเหมาะสมจะทำให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างมีคุณภาพ การถ่ายภาพก็เช่นกัน ผู้ถ่ายต้องเข้าใจเรื่องสี และรู้จึกนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม โดยสีแต่ละสีจะมีคุณลักษณะของตัวเอง โดยจะให้ความรู้สึก เช่น สีแดง บ่งบอกถึงความร้อน ตื่นเต้น อันตราย สีเขียวบ่งบอกถึงธรรมชาติ ความปลอดภัย ความสบาย เป็นต้น
ภาพนี้ผู้เขียนเลือกสีพื้นหลังเป็นสีแดงจะได้เข้ากับตัวแบบที่เป็นไม้ ทำให้ดูขึงขังมากขึ้น
6. คุณค่า (Value) - ในที่นี้หมายถึงค่าของแสงสว่างและเงา จากสว่างสุดไปถึงมืดสุด และค่าของแสงเงาที่ตกสะท้อนกับวัตถุจะขึ้นอยู่กับองศาของแสงด้วย แสงเงาที่ตกกระทบจะมีน้ำหนักอ่อนแก่ และหากไม่มีแสง-เงาตกกระทบจะทำให้สายตาไม่สามารถรับรู้ถึงน้ำหนักของวัตถุ ดังนั้นการกำหนดงานศิลป์จำเป็นต้องมีเรื่องแสงเงามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการถ่ายรูปขาดเรื่องนี้ไม่ได้ และหากสังเกตเมื่อไปเที่ยวในวัดต่าง ๆ ที่อยุธยาเรามักพบว่าในโบสถ์ วิหาร จะมีการเจาะช่องแสงรอบตัวอาคารเพื่อให้แสงตกกระทบเป็นมุม 45 องศา ซึ่งเป็นมุมที่แสงเงาเหมาะสม ทำให้วัตถุมีน้ำหนัก น่าชื่นชม ก่อให้เกิดสุนทรียภาพ
การเจาะช่องรอบอาคารโดยทำมุม 45 องศาทำให้แสงสว่างมีน้ำหนักที่เหมาะสมต่อพระปฎิมา
นอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบอื่น ๆ เช่น สัดส่วน ความเคลื่อนไหว ที่จะเป็นการกำหนดรูปแบบงานศิลป์ให้ออกมาน่าพิสมัยมากยิ่งขึ้น ปกติจะจัดเป็นเรื่องของโครงสร้างงานศิลปะ (Structure of Art) ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไปในครั้งหน้า...

หวังว่าบทความนี้จะทำให้มือสมัครเล่นทราบและนำไปประยุกต์ใช้ในการถ่ายภาพให้ผลงานออกมามีสีสันตามจินตนาการ และถ่ายทอดความรู้สึกออกมาให้ตรงกับใจต้องการ และถ้าทำได้อย่างนี้ก็เรียกว่า ศิลปิน แล้วครับ อย่าลืมนะครับว่า ศิลปินนั้นต้องเข้าใจศิลปะอย่างลึกซึ้ง และสามารถถ่ายทอดความรู้สึกนั้นออกมาเพื่อให้ผู้ชมเกิดความสุนทรียภาพ... ไม่ใช่เรียนรู้ทฤษฎี แล้วยึดมั่นถือมั่น ก็ผิดทิศ ผิดทาง และสิ่งที่เข้าใจนั่นอาจเป็นแค่ทฤษฎี ไม่ใช่ศิลปะ... แยกให้ออกนะครับ... สวัสดีครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น