8 ม.ค. 2555

รู้จักศิลปะ

บล็อกนี้ขอพักเกี่ยวกับการถ่ายรูปเบื้องต้นมาคุยเรื่องศิลปะกับการถ่าย ภาพกันสักนิด... และออกตัวก่อนว่าผู้เขียนไม่ได้เชี่ยวชาญด้านศิลปะชนิดหาตัวจับยาก แต่อาศัยประสบการณ์ความรู้สึกนึกคิด ความอ่อนไหวตามธรรมชาติมากล่าวถึงศิลปะ เรียกได้ว่า มุมมองศิลปะจากบุคคลภายนอก ที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงศิลปินชั้นแนวหน้า

ศิลปะ... หมายถึงอะไร?
ศิลปิน... หมายถึงใคร?

(สืบ เนื่องจากไปแสดงความคิดเห็นในเว็บบอร์ดแห่งหนึ่งแล้วมีข้อคิดที่ขัดแย้งซึ่ง ยังเป็นมุมมองที่มองเพียงเหตุเดียว - เอกังสวาท, จึงเป็นที่มาของบทความนี้เพื่อแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของศิลปะและการถ่าย ภาพ สำหรับมือใหม่ที่จะเริ่มต้นเรียนรู้การถ่ายภาพเพื่อถ่ายทอดความรู้สึก นึกคิด)

เมื่อย้อนไปสมัยก่อนพุทธกาลในยุคที่ยังไม่มีศาสนา มนุษย์มีความเชื่อเรื่องความลึกลับจะดลบันดาลให้เกิดเหตุ เภทภัยต่าง ๆ จึงพากันหาทางออกเพื่อให้พ้นจากภยันตราย หนึ่งในนั้นก็คือการบูชาสิ่งรี้ลับ ตามความเชื่อ และภูมิความรู้ในชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง



สิ่งประดิษฐ์ในยุคนี้ยังคงเป็นสิ่งง่าย ๆ ไม่ได้มุ่งเน้นความงามด้านจิตใจ แต่มุ่งเน้นการใช้งานมากกว่า ต่อมาจึงเกิดแนวคิดเพื่อจะให้เทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายพึงพอใจในสิ่งที่ประดิษฐ์จึงมุ่งเน้นการสร้างด้วย ความสวยงามวิจิตรตามความสามารถที่จะทำได้ จึงก่อให้เกิดศิลปะแบบชาวบ้านขึ้น เบื้องต้นนี้ศิลปะที่เกิดขึ้นจึงเป็นการรับใช้ความเชื่อทางคติชนของกลุ่ม

ต่อ มามนุษย์มีการศึกษาและพัฒนาตนเองมากขึ้นนับตั้งแต่ยุคพุทธกาลมาเรื่อย ๆ มนุษย์มีการพัฒนาตนเอง มีศาสนาการสร้างสิ่งต่าง ๆ ได้รับการพัฒนามากขึ้นมีเหตุผลรองรับ มนุษย์มีความอ่อนไหวทางอารมณ์และสิ่งแวดล้อม

ธรรมชาติซึ่ง เป็นสิ่งแวดล้อมที่อ่อนไหวง่าย เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ก็แฝงด้วยรูปแบบความงามไว้ ทำให้มนุษย์มีความคิดที่จะลอกเลียนแบบธรรมชาติ วิทยาการจึงแตกออกเป็นสองแขนง แขนงหนึ่งเน้นการลอกเลียนธรรมชาติและพยายามเอาชนะธรรมชาติ โดยมุ่งเน้นจะอยู่เหนือธรรมชาติ จึงตกอยู่ในสถานะที่พยายามเข้าใจธรรมชาตินั่นคือแนวทางของวิทยาศาสตร์

อีก แขนงหนึ่งเป็นศาสตร์ที่พยายามศึกษาเข้าใจธรรมชาติและอยู่กับธรรมชาติ โดยเอาธรรมชาติมาเป็นแรงบันดาลใจ ให้เป็นส่วนหนึ่งของงานที่สร้าง

มี ความเข้าใจศิลปะอย่างถ่องแท้จนเกิดความสุนทรียภาพ และสุดท้ายเกิดความลึกซื้งถึงขั้นเป็นพุทธิปัญญา ซึ่งหมายถึงการรับรู้ การเข้าใจอย่างถ่องแท้ (พุทฺธ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน, ผู้รู้ คือ การรู้แจ้ง รู้อย่างเข้าใจถ่องแท้ ซาบซึ้ง - ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Cognitive)

เมื่อมีความซาบซึ้งถึงความสุนทรีย์ทางธรรมชาติ และศาสนาทำให้มนุษย์คิดสร้างสิ่งต่าง ๆ เพื่อรับใช้ศาสนาตามความเชื่อและพัฒนาต่อเติมเสริมแต่งจนเกิดเป็นศิลปะมาก มายถึงทุกวันนี้

ประเภทของศิลปะ
ศิลปะตามหลักการได้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
  1. วิจิตรศิลป์ (Fine Art)
  2. ศิลปะประยุกต์ (Applied Art)
วิจิตรศิลป์ - เป็นศิลปะที่เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจทางธรรมชาติ จนส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในงานขึ้น โดยปกติจะหมายถึง จิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม วรรณศิลป์ และดุริยางคศิลป์  สำหรับการเรียกศิลปะตามความหมายทั่วไปจะหมายถึง วิจิตรศิลป์

สำหรับ จิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรมยังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทัศนศิลป์ (Visual Art) เพราะเป็นศิลปะที่ต้องใช้สายตาในการชื่นชมศิลปะ และเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ศิลปะกินระวางเนื้อที่ (Space Art) เนื่องจากอาศัยพื้นที่ในอากาศส่วนใดส่วนหนึ่งในการจัดแสดงงานศิลป์

ศิลปะประยุกต์ - เป็นศิลปะที่ตั้งใจสร้างเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ บางครั้งเรียกว่า พาณิชย์ศิลป์ (Commercial art) หรือ อุตสาหกรรมศิลป์ (Industrial art) และสำหรับการตกแต่งสถานที่ หรือประดับประดาอาคารสถานที่ไม่ได้ถือว่าเป็นวิจิตรศิลป์ แต่จะเรียกว่ามัณฑนศิลป์ (Decorative art) ซึ่งมัณฑนศิลป์นี้ก็ไปเลือกใช้วิจิตรศิลป์มาเป็นส่วนหนึ่งของงาน

ศิลปะเกิดได้อย่างไร?
บ่อเกิดศิลปะหลัก ๆ มาจาก อิทธิพล 4 ประการ คือ ธรรมชาติ ความเชื่อทางศาสนา สภาพอากาศ-ภูมิประเทศ และสังคมการเมืองการปกครอง

1. ธรรมชาติ - อริสโตเติลได้กล่าวไว้ว่าสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นจะมาจากแบบ เช่น ดอกไม้ และสาวงามมาจากแบบของความงาม นับว่าเป็นความจริง และธรรมชาติก็คือแบบของศิลปะ ดังนั้นธรรมชาติจึงมีความหมายกว้างมาก หากใครบอกว่าธรรมชาติคือศิลปะย่อมเป็นการจำกัดความของธรรมชาติให้ให้แคบลง

ศิลปะ เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และธรรมชาติก็มีทั้งความงามและความอัปลักษณ์ผสมผสานกัน ดังนั้นทั้งความงามและความอัปลักษณ์ก็สามารถเป็นแบบให้กับศิลปะได้ทั้งสิ้น
อริสโตเติล - ศิลปะคือการถ่ายทอดธรรมชาติแต่ไม่ได้หมายความว่าต้องเลียนแบบธรรมชาติไปเสียทุกอย่าง 

ศิลปิน จึงเป็นผู้ที่หยิบเอาความจริงในธรรมชาติที่สะเทือนต่อความรู้สึกและอารมณ์ ของตนขึ้นเป็นแบบของศิลปะแล้วต่อเติมเสริมแต่งในจินตนาการจนกลายเป็นงาน ศิลป์ ซึ่งจะมีคุณค่าหรือไม่ก็อยู่ที่การนำเสนอ ดังนั้นการนำเสนอก็เป็นสิ่งสำคัญอันหนึ่งของศิลปะ...
หากมีใครกล่าวว่า ศิลปะ คือ การเรียนแบบธรรมชาติ แสดงว่าบุคคลนั้นได้ย้อนไปสู่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นสมัยที่มนุษย์ยอมรับในธรรมชาติและเชื่อว่าธรรมชาติมีอำนาจเหนือมนุษย์ จึงก่อให้เกิดการบูชาธรรมชาติ และลัทธิต่าง ๆ
การถ่ายทอดธรรมชาติออกมาเป็นงานศิลป์จึงประกอบด้วย
  1. ถ่ายทอดตามความเป็นจริง (Realism)
  2. ถ่ายทอดโดยการตัดทอน (Distortion)
  3. ถ่ายทอดตามความรู้สึก (Abstraction)
การถ่ายทอดทั้งสามแบบยังแยกออกไปเป็น การแสดงออกรูปลักษณ์ตามธรรมชาติ เช่น ภูเขา ต้นไม้ ดอกไม้ มนุษย์ สัตว์ สรรพสิ่ง หรือการแสดงออกตามทรงเรขาคณิต เช่น เป็นวงกลม วงรี สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม และสุดท้ายการแสดงออกทางศิลปะแบบอิสระโดยไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ตามความนิยมชมชอบของผู้สร้างสรรค์ผลงาน

2. ความเชื่อทางศาสนา - ศาสนาหรือความเชื่อเป็นสิ่งที่ดลบันดาลใจให้เกิดศิลปะพอ ๆ กับธรรมชาติ และบางครั้งก็นำมาผสมผสานธรรมชาติและความเชื่อเป็นงานอย่างน่าอัศจรรย์ และศิลปะในสมัยโบราณที่รับใช้ศาสนามิได้สร้างเพื่อความความสวยงามแต่เป็นการ สร้างเพื่อความสบายใจ ความสุขสงบ ต่อมาก็พัฒนาขึ้นจนถึงขั้นเกิดพุทธิปัญญาทำให้ปรากฎศิลปะในยุคทองต่าง ๆ สำหรับประเทศไทยที่ถือว่าเป็นยุคทองของศิลปะคือ ศิลปะยุคสุโขทัย ที่เกิดจากความซาบซึ้งทางศิลปะและจิตวิญญานตามความเชื่อทางศาสนา และตัวแทนแห่งพุทธิปัญญาในสมัยสุโขทัยสามารถหาดูจากพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย ที่มีความอ่อนช้อยงดงาม โดยเฉพาะพระพุทธรูปปางลีลา

วีนัสในยุคโบราณเป็นตัวแทนแห่งความอุดมสมบูรณ์
วีนัสตามจินตนาการของ ซานโดร บอตติเชลลี จิตรกรสมัยเรอเนสซองซ์

3. สภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ - วัสดุสิ่งของที่ใช้ล้วนแล้วแต่ได้รับอิทธิพลจากธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม นักวิชาการบางคนก็รวมเอาเรื่องภูมิศาสตร์สภาพแวดล้อมเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่สำหรับอิทธิพลต่องานศิลป์ตามสภาพแวดล้อมย่อมสร้างความแตกต่าง เช่น ชาวอาหรับอยู่ในสภาพภูมิศาสตร์ที่แห้งแล้ง ธรรมชาติทางป่าไม้มีน้อย ความเขียวขจีไม่มีให้เห็น งานศิลป์ที่ออกมาจึงเป็นรูปทรงเรขาคณิตเสียมากกว่า การแต่งกายก็ก่อให้เกิดศิลปะซึ่งก็แตกต่างกันไปตามภูมิอากาศ

4. สังคม การปกครอง การเมือง - สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่องานศิลปะทั้งสิ้น เพราะศิลปินมักจะมีแนวโน้มที่จะรับใช้ความคิดของสังคม สังคมใดหากอยู่ในยุคที่มีความรุนแรงงานศิลปะจะออกมาเป็นสองแนวทางคือ ความก้าวร้าว ตามความคิดของสังคม และงานที่อ่อนหวานเพื่อหลีกหนีสังคมเป็นต้น

จากประเภทและ บ่อเกิดแห่งศิลปะที่กล่าวถึงไปข้างต้นนั้นจะเห็นว่าความหมายง่าย ๆ ของ ศิลปะ คือ การถ่ายทอดความคิดที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสังคมสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ (แต่ความหมายที่ลึกซึ้งก็ต้องว่ากันต่อไป)


ภาพนี้เป็นตัวอย่างของการบันทึกเหตุการณ์หรือถ่ายโดยไม่ต้องคิดอะไรมาก
ส่วนภาพนี้เป็นการตัดทอนดอกไม้ให้เหลือเฉพาะส่วนและถ่ายทอดความรู้สึกแฝงไว้ในรูปภาพ

เมื่อเข้าใจและ ทราบถึงประเภทศิลปะแล้ว นักถ่ายภาพมือใหม่ ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์งานถ่ายภาพของตนเอง ไม่มากก็น้อย เช่น การถ่ายภาพดอกไม้ หากถ่ายภาพเพื่อให้ทราบเหตุการณ์ก็ไม่ต้องคิดอะไรมากมาย เพียงยกกล้องขึ้นเล็งและกดปุ่มชัตเตอร์แค่นี้ก็สามารถบันทึกเหตุการณ์ให้ผู้ อื่นทราบแล้วว่าเกิดอะไร หรือมีอะไร


แต่ถ้าหากเป็นการตัด ทอนส่วนใดส่วนหนึ่งของดอกไม้ เช่น โคลสอัพไปที่ดอก กลีบ ใบ เปลือก-กระพี้แล้วถ่ายรูปออกมาให้สวยงามนี่ก็เป็นศิลปะ และก่อนที่จะถ่ายรูปผู้ถ่ายคิดก่อนว่าจะถ่ายอะไร นำไปทำอะไร และอยากถ่ายทอดความรู้สึก นึกคิด หรือถ่ายทอดความงามนี่คือการสร้างสรรค์ศิลปะ ถ้าพัฒนาต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ผลงานย่อมเป็นที่ประจักษ์ในวันข้างหน้า...


บทความฉบับนี้จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้ ที่กล่าวอ้างมาเกิดจากการค้นคว้า ความเข้าใจ หากผิดพลาดประการใดรบกวนช่วยชี้แนะ แต่งเติมเพื่อความสมบูรณ์ของเนื้อหาสืบไป... ขอบคุณครับ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น