11 ม.ค. 2555

ก่อนถ่ายรูปควรคิดก่อนว่าจะสื่ออะไร...

ช่วงนี้ได้ทบทวนเรื่องศิลปะอย่างต่อเนื่อง พยายามค้นหาประเภทของการถ่ายภาพ เพื่อจัดหมวดหมู่ตามประเภทของศิลปะ ก็ยังงง ๆ เพราะหลายสำนักต่างก็มีความคิดเห็นต่างกันไป บ้างก็ว่าเป็นพาณิชย์ศิลป์ บ้างก็บอกว่าเป็นทัศนศิลป์ บ้างก็บอกว่าเป็นแค่การบันทึกเหตุการณ์หาใช่ศิลปะ แต่อย่างหลังนี่ก็หมิ่นเหม่ หากใช้กับภาพท่องเที่ยวทั่วไปคงจะระบุได้ แต่สำหรับหลาย ๆ ภาพของหลาย ๆ คนถ่ายออกมาแล้วเป็นเรื่องการถ่ายทอดอารมณ์นั่นก็เข้าหลักเกณฑ์งานศิลปะอีกนั่นแหละ และปัจจุบันนี้ในแวดวงศิลปินจะมีรางวัลศิลปินแห่งชาติสาขาภาพถ่าย ซึ่งก็เป็นการยอมรับว่าการถ่ายภาพเป็นศิลปะชนิดหนึ่ง และคาดว่าในอนาคตน่าจะเป็นศิลปะที่น่าสนใจสาขาหนึ่ง เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว

สำหรับบทความฉบับนี้ผู้เขียนเพียงได้ข้อคิดและแนวทางที่สะสมมาจากการฟัง การอ่าน และต่อเติมเสริมแต่งความคิด (เอาความคิดของคนอื่นมากลั่นกรองใหม่ให้เหมาะสมกับตัวเอง) เพื่อนำมาใช้ก่อนที่จะถ่ายภาพ โดยผู้เขียนจะแยกงานถ่ายภาพออกมาเป็นสองแบบคือ ถ่ายเก็บเหตุการณ์ กับการถ่ายเพื่อสื่อสาร



การถ่ายภาพเก็บเหตุการณ์ก็ยึดตามหลักการสื่อสารทั่วไปคือ ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อใด อย่างไร มีผลกับใคร หรือแล้วแต่เจ้าภาพ หรือผู้ถูกถ่ายต้องการก็ไม่คิดอะไรมาก เพียงแต่ให้ภาพชัดรายละเอียดครอบคลุมกับโจทย์ และนำไปอัดภาพลงอัลบั้มหรือลงเว็บไซต์ ปกติจะปรับขนาดไฟล์ภาพเพียง M ก็เพียงพอ และเสร็จงานสามารถเลือกไฟล์เขียนลงแผ่นให้คนที่เกี่ยวข้องทันที การปรับแต่ก็มีบ้างส่วนใหญ่คือ การปรับสี แสง ความสว่างให้เหมาะสม หรือดูดีมากยิ่งขึ้น

และภาพเพื่อการสื่อสาร ผู้เขียนจะมีแนวคิดไปอีกแบบ เมื่อไปที่ไหนถ้ามีเวลา แล้วมักจะมองหาเรื่องราว (ไม่ใช่หาเรื่องพร้อมเลือดนะครับ) ยิ่งถ้าโอกาสเอื้ออำนวย ก็จะเดินวนเวียน เยอะหน่อย แต่ถ้าน้อยก็นั่งมอง คิด ไปเรื่อย ๆ สายตาก็มองหาสิ่งใกล้ตัว หากเห็นมุมภาพ แสง เงา และสีเหมาะจะถ่ายภาพก็เก็บภาพไว้ก่อน และคิดว่าจะเอาภาพไปทำอะไรต่อไป หรือบางครั้งยังคิดไม่ออก แต่ภาพสวยดีก็ถ่ายมาก่อน แล้วมานั่งคิดทีหลัง บางทีถ่ายรูปมาหลายสิบภาพ แต่สื่อไม่ได้ และหาความหมาย ประโยชน์ที่จะนำไปใช้ต่อไปไม่ได้ก็ลบทิ้งหรือไม่สนใจปล่อยทิ้งให้รกเครื่องไว้อย่างนั้นแหละ

นักถ่ายภาพมือใหม่ควรที่จะหัดคิดก่อนที่จะถ่ายภาพ และสื่อให้ออกมาตามที่คิด และพยายามฝึกให้คิดและสื่อได้ใกล้เคียงกัน ปัจจุบันเป็นกล้องดิจิตอลแล้วก็ไม่ต้องกังวลว่าจะสิ้นเปลืองเหมือนสมัยกล้องฟิล์มกันอีกต่อไป

นอกจากมองหาความหมายแล้วก็ต้องฝึกเรื่ององค์ประกอบให้ดีด้วย บ่อยครั้งที่ผู้เขียนถ่ายภาพแล้วต้องลบทิ้ง เพราะองค์ประกอบขาดหายไปทำให้เรื่องราวที่จะสื่อนั้นมีเรื่องราวลดน้อยลง องค์ประกอบดี ๆ นั้นต้องฝึก เป็นเรื่องของมุมมองที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่หลัก ๆ ก็มีสิ่งแอบแฝงที่ผู้ถ่ายสามารถค้นหา แล้วนำมาใช้ในการสร้างองค์ประกอบของภาพ เพื่อเสริมเรื่องราวให้น่าติดตาม หลัก ๆ ก็ประกอบด้วย เส้น สี แสง เงา ดุลยภาพ ฯลฯ

[
สะพานความสุข, Canon 60D+Voigtlander 40mm @f/8

ตัวอย่างภาพสะพานแห่งความสุข ภาพนี้เบื้องต้นก็ไม่มีอะไรมาก เป็นประติมากรรมลอยตัวธรรมดา หรือจะมองว่ามีค่าราคาแพงก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่ผู้เขียนมองเห็นคือการใช้เส้นทะแยงมุมมาช่วยเพื่อให้รู้สึกถึงความเคลื่อนไหว ความอ่อนไหว แต่ปลายเส้นตรงมีความโค้งจากสะพาน ทำให้รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวไม่รุนแรง นิ่มนวลขึ้น และสะพานสื่อให้เห็นถึงการข้ามแม่น้ำ และแบบหลักเป็นพระโพธิสัตว์กวนอิม เป็นตัวแทนศาสนาหรือคุณความดี สะพานที่ข้ามแม่น้ำจึงมีความหมายที่ยิ่งกว่านั้น คือการข้ามโอฆะสงสาร เป็นการข้ามสังสารวัฎฎะ หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด หนทางเบื้องหน้าคือการเดินไปสู่แดนอันสงบสุขที่รอเบื้องหน้า จุดมุ่งหมายความสุขที่แท้จริงคือ นิพพาน, อันเป็นความสงบ เยือกเย็น... ภาพนี้ผู้เขียนจึงเรียกว่า สะพานความสุข

ภาพนี้ยังไม่สมบูรณ์แบบ เพราะช่วงจังหวะเวลาที่ถ่ายนั้นด้านหลังมีเมฆฝนอยู่เต็มท้องฟ้า ทำให้สีออกมาทึม ๆ แต่ก็ยังมีเรื่องราวอื่น ๆ มาทำให้ภาพนี้เกิดประโยชน์ได้บ้าง แต่ถ้าเบื้องหลังท้องมีแสงสีทองก่อนดวงอาทิตย์ตกดินทำให้เกิดแสงเงามากกว่านี้ภาพจะมีความเป็นเอกภาพเปลี่ยนไปทันที...

ส่งท้าย... ก่อนที่จะกดปุ่มชัตเตอร์ไปนั้นอย่าลืมคิดก่อนว่าภาพที่กดจะได้ประโยชน์อะไร ถ่ายแล้วเอาไปทำอะไรได้บ้าง แล้วค่อยมาดูลึกลงไปอีกว่าทำอย่างไรถึงจะสื่อให้ตรงกับโจทย์ที่ตั้งไว้ อย่างน้อยก็เป็นการฝึกไม่ให้กดชัตเตอร์ส่งเดช ถึงแม้ว่าจะไม่เปลืองฟิล์มแต่ก็เปลืองตัว(กล้อง) กดครั้งหนึ่ง ม่านชัตเตอร์ทำงานครั้งหนึ่ง หลาย ๆ ครั้งก็เป็นต้นทุนทางอายุของกล้องได้เหมือนกัน มีคนกล่าวไว้ว่ากล้องก็เหมือนแฟน ควรใช้อย่างทะนุถนอม เขาจะได้อยู่กับเรานาน ๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าหวงเสียจนไม่กล้าพาออกนอกบ้านนะครับ... พาออกงานสังคมบ้างจะได้รู้งาน... รู้มือ... สวัสดีครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น