11 ม.ค. 2555

ความเป็นเอกภาพ (Unity)

ในทฤษฎีศิลปะเรื่องการจัดองค์ประกอบยังมีเรื่องของ ความเป็นเอกภาพ หรือ Unity ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการจัดแสดงเนื้อหาของศิลปะ ความเป็นเอกภาพคือการจัดสรรให้สิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฎให้ลงตัวตามความรู้สึกและสื่อออกมาตามอารมณ์ของผู้นำเสนอ

ความเป็นเอกภาพไม่ได้หมายความต้องต้องเหมือนกันเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะมีความขัดแย้ง หรือเป็นไปในทิศทางเดียวกันก็ได้ แต่ในเมื่อมีความขัดแย้งของวัตถุที่นำเสนอศิลปินต้องจัดให้มีการประสานไม่ว่าจะเชื่อมโยงโดยใช้ สี เส้น แสง เงา เพื่อเป็นตัวเชื่อให้ความขัดแย้งนั้นดูมีจังหวะและลีลา

ความเป็นเอกภาพนี้ยังทำให้เนื้อหาที่ต้องการสื่อเป็นเรื่องราวเดียวกัน และไม่แตกแยกเรื่องราวออกไป ถึงแม้จะมีความหมายร้อยพัน แต่ก็เป็นเอกภาพเดียวกัน

หลัก ๆ แล้วเอกภาพแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
  1. เอกภาพการแสดงออก - เป็นความลงตัวของเนื้อหาที่ศิลปินต้องการสื่อ
  2. เอกภาพด้านรูปทรง - เป็นความลงตัวของ เส้น แสง เงา รูปร่างในงานที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

แต่อย่างไรก็ตาม การสร้างความเป็นเอกภาพในชิ้นงานนั้นหากเป็นเรื่องความกลมกลืนไปในทิศทางเดียวกัน ก็ถูกมองว่า น่าเบื่อหน่าย อาจจะเป็นเพราะมีการนำเสนอผลงานประเภทนี้มาอย่างยาวนาน ดังนั้นจึงมีวิธีการสร้างความเป็นเอกภาพจากความขัดแย้งกันขึ้นมา แต่เนื้อหาที่ต้องการสื่อนั้นยังคงมีความเป็นเอกภาพอยู่เสมอ


ท่องเที่ยว, วัดไตรมิตรวิทยาราม
ISO100, 1/750s และ f/3.5

ภาพที่ผู้เขียนได้นำเสนอข้างบนนี้ผู้เขียนได้เน้นสื่อให้เห็นถึงการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกิจกรรมการเดินทาง หรือความเคลื่อนไหว การค้นคว้าหาข้อมูล ข่าวสาร และความสุขจากการเดินทางเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม ภาพนี้ถ่ายขณะเดินลงบันไดเพื่อกลับบ้าน ตั้งใจจะถ่ายภาพที่บันไดเพื่อให้มองเห็นกิจกรรมด้านล่าง ตอนแรกมีคนยืนอยู่เป็นกลุ่ม แต่ขณะที่ปรับแต่งตั้งค่าวัดแสงเสร็จคนกลุ่มนั้นหายไปแล้ว พอดีจังหวะที่คู่หนุ่มสาวกำลังเดินขึ้นบันไดมาพอดี จึงกดถ่ายรูปนี้เพื่อให้เห็นว่ามีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้น และมีช่องว่างด้านหน้าทั้งตัวนางแบบ และคู่หนุ่มสาว ในการถ่ายภาพลักษณะนี้เรียกว่าเปิดหน้า ทำให้เกิดความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

ความเป็นเอกภาพของภาพนี้คือทุกคนมุ่งไปข้างหน้า และมีรอยยิ้มเป็นตัวบอกว่ามีความสุข แบบรองที่เป็นคู่หนุ่มสาวนั้นเดินขึ้นบันได มีพื้นที่ด้านหน้าแสดงให้เห็นถึงการก้าวเดินไปข้างหน้าเพื่อค้นหาจุดหมาย โดยมีพื้นที่ว่างให้เติมเต็มและคิดต่อไปว่า คู่นี้จะเดินหน้าต่อไปหรือว่าจะเดินเลี้ยวซ้ายขึ้นบันได

และหากมีการปรับเปลียนใหม่ให้คู่หนุ่มสาวเดินมาอีกสักก้าวหรือสองก้าว หรือไม่มีคู่หนุ่มสาว ความเป็นเอกภาพจะเปลี่ยน ภาพจะถูกแย่งความน่าสนใจไป เพราะมีจุดที่สนใจสองจุด (กรณีที่คู่หนุ่มสาวเดินมาอยู่ในจุดตัดพอดี) หรือถ้าไม่มีคู่หนุ่มสาวพื้นที่ด้านซ้ายก็จะโล่ง ๆ ไม่มีเรื่องราวให้คิดต่อ และเป็นเพียงการถ่ายภาพบุคคลธรรมดา ๆ ภาพหนึ่ง

กลับกันหากคู่หนุ่มสาวเดินหลังโดยอยู่บริเวณว่าง ๆ หันหน้าเพื่อลงบันได เอกภาพยังคงเหมือนเดิม คือการเดินทาง แต่เป็นเอกภาพจากความขัดแย้ง คือนางแบบหันหน้ามองไปด้านตรงข้ามกับคู่หนุ่มสาว...

และหากคู่หนุ่มสาวกำลังเลี้ยวซ้ายจะขึ้นบันไดโดยหันหน้าทำมุมกับนางแบบหลักลักษณะ 90 องศา เอกภาพจะเปลี่ยนไป เพราะทิศทางของแบบขัดแย้งกันคนละทิศเป็นการตัดกันเกินไป

มวลน้ำ, ISO400 1/125s @f/2.8 Canon 50D+50mm f/1.4 FD (Manual Focus)

ภาพที่สองผู้เขียนถ่ายไว้เมื่อไปเที่ยวน่าน ขณะนั่งดื่มกาแฟ เห็นอ่างน้ำขนาดย่อมตั้งอยู่ เห็นน้ำผุดขึ้นดังขึ้นมาอย่างไร้ทิศทาง ดูแล้วเพลินตา ขากลับออกจากร้านเลยแวะถ่ายภาพนี้ ตั้งใจสื่อให้เห็นถึงพลังของน้ำถึงมีจะควบคุมทิศทางได้ แต่ยังดันขึ้นมาอย่างสะเปะสะปะ วกวนไปมา แต่ด้วยเลนส์ที่ติดตัวไปมีเพียงเลนส์มือหมุน FD รุ่นเก่า ต่อผ่านแหวนแปลง FD to EOS ทำให้ภาพออกมาฟุ้ง ๆ บ้างไม่ค่อยคมชัด ถ่ายไว้หลายภาพพยายามมองหาฉากหลังเพื่อให้มีความสมดุล ซึ่งมีฉากหลังเป็นต้นไม้พุ่มขนาดเล็ก  อยู่นอกระยะโฟกัสทำให้มองเห็นสีเขียวไกล ๆ ช่วงถ่วงให้เกิดสมดุลของภาพได้ ลองจินตนาการตามว่าหากในภาพนี้ไม่มีฉากหลังเขียวที่กล่าวถึงภาพจะเป็นอย่างไร 

Canon 60D+Voigtlander 40mm (MF) ISO100, 1/125s @f/8

ภาพพระโพธิสัตว์กวนอิมภาพนี้ผู้เขียนถ่ายด้วยเลนส์มือหมุน 40mm ของ Voigtlander ในวันที่ถ่ายท้องฟ้ามีเมฆฝนขาวเป็นแผ่นเต็มท้องฟ้า ถ่ายอย่างไรก็มีฉากหลังขาว เดินหามุมอยู่พักหนึ่งก็เห็นสายสิญจน์สำหรับทำพิธีกรรมที่หนีออกจากองค์พระโพธิสัตว์ จึงนำมาถ่วงดุลให้ภาพมีน้ำหนักสมดุลกัน หากภาพนี้ไม่ด้ายสายสิญจน์ แล้วจะทำภาพดูหนักไปด้านขวามือ แต่ด้ายเส้นเล็กสองสามเส้นกลับทำให้น้ำหนักของภาพสมดุลขึ้นมา

น้ำหนักของน้ำจะถ่วงทำให้ภาพมีน้ำหนักอยู่ด้านขวาเพียงอย่างเดียว มองดูแล้วรู้สึกอึดอัด แต่พอมีฉากหลังสีเขียวมาถ่วงดุลแล้ว ทำให้ภาพไม่เอนไปด้านขวาอย่างชัดเจน ลักษณะนี้จึงเข้าข่าย การจัดดุลยภาพด้วย เส้น

นี่เป็นตัวอย่างการถ่ายรูปซึ่งผู้เขียนมักจะคิดหลักของทฤษฎีประกอบไปด้วย หากมีเวลา แต่ก็มีหลาย ๆ ครั้งที่ต้องถ่ายรูปเก็บไว้ก่อนเพื่อเป็นหลักฐานให้รู้ว่าได้มาเที่ยวหรือมีอะไรเกิดขึ้น

บทความนี้เป็นเพียงมุมมองหนึ่งของคนนอกวงการศิลปะที่สนใจการถ่ายภาพ และพยายามเชื่อมโยงเรื่องราวต่าง ๆ ให้เกิดเป็นแนวคิดเรื่องเล่า โดยอาศัยทฤษฎีศิลปะมาใช้ในการนำเสนอภาพต่าง ๆ เพื่อให้เกิดเรื่องเล่าในตัวมันเอง และฝากไว้ว่า ทฤษฎีก็คือตัวแบบเท่านั้น ซึ่งมีไว้สำหรับประยุกต์ใช้งาน ถึงแม้จะไม่ตรงตามทฤษฎีว่าไว้ทุกกระเบียดนิ้วไปเสียทุกเรื่อง แต่การนำเสนออย่างไรก็เป็นไปตามทฤษฎีนั่นแหละไม่หนีห่างกันสักเท่าใดนัก... เพราะทฤษฎีเหล่านี้เหล่าครูบาอาจารย์ ศิลปินระบือนามได้คิดค้นกันมาอย่างต่อเนื่องแล้ว... ไว้พบกันใหม่ครับ... สวัสดีครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น