19 ม.ค. 2555

จิตวิญญานของการถ่ายรูป

ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า ภาพถ่าย ถือว่าเป็นศิลปะประเภทไหน เป็นวิจิตรศิลป์ (Fine Art) หรือประยุกต์ศิลป์ (Applied Art) แต่ถ้าหากเข้าใจในเรื่องศิลปะแล้วเราสามารถแยกแยะว่ารูปไหนเข้าข่ายวิจิตรศิลป์ และรูปไหนเป็นประยุกต์ศิลปะ แล้วก็มีบางภาพเป็นขยะไปเลยทีเดียว ไม่สามารถจัดเป็นศิลปะได้

การถ่ายภาพในยุคดิจิตอลเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย มีโปรแกรมหลากหลายช่วยในการถ่ายภาพ ตกแต่งภาพทำให้ดูดี เพิ่มลูกเล่นต่าง ๆ ความหลากหลายนั้นก็ทำให้ดูเหมือนคุณค่าของภาพถ่ายลดลง โดยที่จริงแล้วศิลปะการถ่ายภาพก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม

คนที่ผ่านการถ่ายรูปด้วยกล้อง D-SLRs มาบ้างแล้วจะรู้ว่าการถ่ายภาพไม่ใช่สิ่งที่ง่าย หากต้องการถ่ายภาพให้สวยงาม ต้องใช้ความคิดตลอดเวลาก่อนที่จะกดถ่ายภาพเท่านั้นถึงจะได้ภาพสวย ๆ แต่หากถ่ายสักแต่ว่าถ่ายไม่คิดอะไรเลยกล้องราคาเรือนแสนก็ไม่ต่างจากกล้องมือถือหรือกล้องราคาหลักพัน

องค์ประกอบภาพ แสง เงา สีสัน เป็นส่วนประกอบหลักที่ทำให้ภาพออกมาดูดีเป็นเอกลักษณ์ ภาพบางภาพหากถ่ายในวันเวลาต่างกันย่อมได้ผลลัพธ์ต่างอย่างเห็นชัด



ศิลปะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หากคิดจะถ่ายรูป บางคนบอกว่าเป็นเรื่องง่าย ๆ แค่มองดูว่าตรงไหนน่าจะถ่ายรูปก็ยกกล้องเล็งแล้วก็กดชัตเตอร์แล้วภาพออกมาก็ใช้ได้ทุกครั้ง ไม่เห็นต้องใช้ศิลปะ หรือมีความรู้เรื่องศิลปะเลย... แค่มองดูว่าตรงไหนบริเวณไหนเหมาะในการถ่ายรูป แค่นี้ก็เป็นการใช้ศิลปะแล้วครับ เพียงแต่มันแฝงหรือฝังในหัวสมองของเราโดยเราไม่รู้ตัว หากพัฒนาต่อยอดความคิดแล้วฝึกฝนไปเรื่อย ๆ จะสามารถสร้างจินตนาการ และความสวยงามบนภาพถ่ายได้เป็นอย่างดี


ตัวอย่างภาพข้างบนนี้เป็นภาพถ่ายจากเศษชิ้นงานประดับที่ถูกทิ้งวางพิงต้นไม้บริเวณทางเข้าปราสาทหินพนมวัน โดยปล่อยคราบตะไคร่แห้งเกรอะกรัง ดูไร้ค่า แต่เมื่อพิจารณาถึงแสงเงา มุมมอง ผสมอารมณ์เหงาเข้าไปแล้วทำให้ภาพสะท้อนถึงความรู้สึกเดียวดาย อ้างว้างได้เป็นอย่างดี แสงใต้ร่มไม้ทำให้ความแข็งกร้าวลดลง ความชัดตื้นบีบมุมมองให้หยุดเฉพาะใบหน้าของหุ่น สายที่ทอดต่ำตามภายที่ถ่ายมุมสูงทำให้รู้สึกต่ำต้อย ไร้ค่า ความสวยของศิลปะแบบไทยทำให้เกิดเส้นที่สวยงาม


ภาพถัดมาเป็นภาพแจกันธรรมดา แต่ขณะถ่ายก็คิดเรื่องของความซ้ำซ้อนของแบบ เส้น แสง แต่ก็ยังไม่เข้าขั้นจะจัดเป็นศิลปะได้ เพียงแต่เป็นรูปแบบ แสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยการถ่ายแจกันธรรมดา ๆ ก็ยังต้องคิด ต้องหาทางที่จะนำเสนออะไรสักอย่างหนึ่ง รูปแบบการถ่ายลักษณะนี้คือใช้หลักการจัดองค์ประกอบแบบ Pattern ซึ่งเป็นรูปแบบซ้ำซ้อน

ดังนั้นการถ่ายภาพคือกระบวนการคิด วิเคราะห์ กลั่นกรองเพื่อหาจุดที่นำเสนอแนวคิด ความงาม แล้วถ่ายทอดตามจินตนาการของตนเอง หากคิดได้อย่างนี้ก็เข้าข่ายเป็นศิลปะการถ่ายภาพ และเชื่อหรือไม่ว่าความสุขจากการถ่ายภาพคือเสียงลั่นชัตเตอร์ กระจกกระดกขึ้นลงฉับ ๆ มักจะกังวาลอยู่ในหัว เมื่อเปิดดูภาพหากเป็นไปตามที่ต้องการมันจะอัดแน่นในหัวใจ ความรู้สึกซาบซ่าวิ่งวนอยู่ในหัวสมองอย่างมีความสุข... นี่แหละคือจิตวิญญานแห่งการถ่ายรูป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น